คำพิพากษาฎีกาที่ 1039/2553

นางสาวพิมพากานต์ รีเกลโจทก์

บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัดจำเลย

เรื่อง

1. กรณีเลิกจ้างโจทก์ หากโจทก์มิได้กระทำผิด โจทก์มีสิทธิ์ได้รับอะไรบ้าง
2. การที่โจทก์มิได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับ การเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่

3. ค่ารถประจำตำแหน่งเป็นค่าจ้างไหม
4. หากค่ารถเป็นค่าจ้าง ต้องมีผลถึงค่าชดเชยไหม
5. ทัศนคติไม่ดี ท้าทายผู้บริหาร เป็นเยี่ยงอย่างไม่ดีเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้ไหม หรือไม่เป็นธรรม
6. ได้จัดรถประจำตำแหน่งให้แต่โจทก์ขอเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อใช้รถของตัวเองถือเป็นค่าจ้างไหม
7. เงินบำเหน็จ ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้ แต่ระบุว่าให้เงินบำเหน็จในคำสั่งเลิกจ้าง ผลจะเป็นอย่างไร

1.โจทก์ฟ้องว่า ทำงานตำแหน่งฝ่ายจัดซื้อสินค้าสตาร์มาร์ท ได้รับค่าจ้างเดือนละ 66,660 บาท ค่ารถประจำตำแหน่งเดือนละ 15,000 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กระทำความผิด จำเลยจ่ายค่าชดเชย 8 เดือน เป็นเงิน 533,280 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 66,660 บาท เงินรางวัลประจำปีเป็นเงิน 27,180 บาท เงินบำเหน็จจากการทำงานเป็นเงิน 255,682 บาท และเงินทดแทนวันหยุดพักร้อนประจำปี 20 วัน เป็นเงิน 44,440 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 927,242 บาท ส่วนเงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปี ที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยยังไม่ได้จ่าย และจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 1,500,000.00 บาท

2.จำเลยให้การว่า โจทก์มีทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อเพื่อนพนักงานอื่น ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ โจทก์มักไม่เข้าทำงานภายในบริษัทโดยไม่แจ้งเหตุ ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลย โจทก์มีพฤติกรรมท้าทายอำนาจการบริหารของผู้บังคับบัญชา ก่อนเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เคยได้รับการลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำงานโดยที่โจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่เข้าร่วมการประชุมแล้ว การกระทำของโจทก์มีแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีภายในองค์กรของจำเลย ทั้งยังเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เดิมจำเลยได้จัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษารถยนต์ของโจทก์แทน เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่ค่าจ้าง พนักงานของจำเลยที่จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวจะต้องออกจากงานโดยปราศจากความผิด เงินบำเหน็จที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์นั้น จะต้องนำมาหักออกจากเงินที่จำเลยต้องจ่ายตามกฎหมาย รวมถึงค่าชดเชยที่จำเลยได้จ่ายไป ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลประจำปีจำนวน 27,180 บาท เงินบำเหน็จจากการทำงาน จำนวน 255,682 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 533,280 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

4.จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ว่าตามระเบียบเงินบำเหน็จการทำงาน จำเลยก็มีสิทธิ หักกับเงินที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งหากค่าชดเชยที่จ่ายให้มีจำนวนน้อยกว่าเงินบำเหน็จจำเลยก็จะจ่ายส่วนที่ขาดอยู่ให้ครบตามจำนวนเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายให้ แต่หากค่าชดเชยที่จ่ายให้มีจำนวนมากกว่าเงินบำเหน็จแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้อีก ตามเงื่อนไขดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์อีก เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ระบุแจ้งชัดว่า ยินดีจ่ายเงินบำเหน็จการทำงานให้แก่โจทก์ จำนวน 255,682 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสงวนสิทธิที่จะจ่ายตามเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา จึงชอบแล้ว

5.ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 3 เกี่ยวกับเงินรางวัลประจำปีว่า ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้มาแต่แรก

6.ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 4 เป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมนั้น ข้อเท็จจริง จึงฟังได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลย กรณีนี้จึงไม่มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

7.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/15)
www.paiboonniti.com