คำพิพากษาฎีกาที่ 5972-5982/2553

นายอาณัติ คุเณนทราศัย ที่ 1 กับพวกรวม 11 คนโจทก์

บริษัท สินบัวหลวงลิสซิ่ง จำกัดจำเลย

เรื่อง

1. นายจ้างขาดทุนต้องเข้าฟื้นฟูเมื่อเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่
2. การคำนวณเงินค่าชดเชย มีวิธีคำนวณอย่างไร

3. หากจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องเสียดอกเบี้ยหรือไม่
4. เศรษฐกิจไม่ดีจึงลดเงินเดือน เวลาคิดค่าชดเชยคิดจากฐานเงินเดือนใหม่หรือฐานเงินเดือนเดิม
5. ค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์เป็นค่าจ้างหรือไม่
6. นายจ้างขาดทุนต้องเข้าสู่ฟื้นฟูต้องจ่ายโบนัส หรือไม่
7. จ่ายค่าชดเชยไม่ครบต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเท่าใด

1. โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขา ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา และรักษาการผู้จัดการสาขา โดยได้ค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท 40,000 บาท 35,000 บาท 22,500 บาท 42,500 บาท 36,150 บาท 44,500 บาท 43,750 บาท 35,000 บาท 40,000 บาท 25,000 บาท ตามลำดับ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 47 โดยโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีความผิดจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ไม่ครบตามที่ตกลง นอกจากนี้จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทุกปีในอัตราปีละ 2 เดือน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยค้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 11 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 7 ถึงโจทก์ที่ 11 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จ่ายค่าเสียหายคนละ 500,000 บาทจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และให้จ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 7 ถึงโจทก์ที่ 11 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินโบนัส นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด

2.จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเนื่องจากจำเลยประสบภาวะขาดทุน ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด โดยจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนแล้ว สำหรับเงินโบนัสจำเลยจะมีการจ่ายจากผลกำไรจากการดำเนินงานและจำเลยไม่มีข้อตกลงในการจ่ายเงินดังกล่าวเมื่อจำเลยมีภาระหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก โจทก์ทั้งสิบเอ็ดย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสจากจำเลย นอกจากนี้เงินค่าน้ำมันและค่าโทรศัพท์มิใช่ค่าจ้าง เพราะจำเลยจะจ่ายเงินดังกล่าวให้ตามความเป็นจริง และต้องนำใบเสร็จรับเงินมาขอเบิกขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 11 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าชดเชยสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์ที่ 7 ถึงโจทก์ที่ 11 นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

4.จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อ พ.ศ.2540 บริษัทจำเลยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จำเลยจึงตกลงกับลูกจ้างขอลดค่าจ้างลง โดยได้ออกประกาศจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงาน ซึ่งมีหลักเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนก่อนปรับลด ประกาศดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 และมาตรา 13 ต่อมาจำเลยออกคำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ให้ยกเลิกประกาศจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานจึงไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เมื่อคำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 จำเลยในฐานะนายจ้างกระทำไปฝ่ายเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอย่างถูกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 แล้ว คำสั่งที่ (พิเศษ) 1/2543 ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมไม่มีผลใช้บังคับกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/31)
www.paiboonniti.com