ถาม : ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการลงโทษ เป็นสมาชิกของสหภาพได้ไหม

ตามหนังสือกองนิติการ ที่ มท 1106/1108 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527

ประเด็นข้อหารือ

กรณีสารวัตรตรวจการสังกัดกองลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าชั้นหัวหน้าแผนก และตามข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจลงโทษตัดเงินเดือนพนักงานชั้นประจำแผนกหรือเทียบเท่าและชั้นเสมียนหรือเทียบเท่าได้ทุกตำแหน่ง แต่ไม่มีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด กับไม่มีอำนาจพิจารณาและตัดสินโทษพนักงานอื่นๆที่ตนมีหน้าที่ตรวจสอบดูแลความประพฤติและการทำงานได้โดยตรง เพียงแต่มีอำนาจรายงานเท่านั้นจะถือว่าเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษตามมาตรา 95 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่

ข้อเท็จจริง

1. นายถัด สุปการ ดำรงตำแหน่งสารวัตรตรวจการเทียบเท่าชั้นหัวหน้าแผนก สังกัดกองลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกล ซึ่งตามคำสั่งกองลากเลื่อนที่ ลล.9/2124/052 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 เรื่องการเปรียบเทียบและการมอบอำนาจให้วิศวกรกำกับการ และสารวัตรในสังกัดกองลากเลื่อนปฏิบัติการในกรณีต่างๆสำหรับพนักงานที่ครองตำแหน่งช่างฝีมือ สำรองช่างฝีมือและอื่นๆมีอำนาจในการลงโทษตัดเงินเดือนได้ทุกตำแหน่ง ตามอำนาจที่ระบุไว้ในข้อบังคับฉบับที่ 3 ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยในข้อที่ 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 99 อย่างไรก็ตามนายถัดฯ ไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด

2. นายถัดฯ มีหน้าที่ตรวจสอบดูแลความประพฤติและการทำงานของพนักงานการรถไฟทั่วประเทศ ซึ่งถ้าผู้ใดมีความประพฤติไม่เหมาะสม นายถัดฯจะได้รายงานความผิดของพนักงานผู้นั้นให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบ เพื่อรายงานต่อไปยังผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่พนักงานผู้นั้นสังกัด เพื่อพิจารณาการตัดสินโทษตามข้อบังคับของการรถไฟที่ระบุให้อำนาจไว้

นอกจากนี้ ถ้าพนักงานผู้ใดกระทำผิด เช่น เมาสุราและไม่สามารถปฏิบัติงานได้ นายถัดฯในตำแหน่งสารวัตรตรวจการสามารถสั่งการสับเปลี่ยนตัวให้พนักงานผู้อื่นเข้าดำเนินการในหน้าที่แทนผู้นั้นได้ และรายงานการปฏิบัติงานของตนดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานผู้นั้นได้ทราบในภายหลัง ย่อมถือว่านายถัดฯไม่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการลงโทษตามมาตรา 95 วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518