คำพิพากษาฎีกาที่ 8802/2553

นายบุญลือ กาลึกสม โจทก์

บริษัทไทยอามส์ จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. จ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกหรือไม่

2. ย้ายหน้าที่จากกรุงเทพไปราชบุรี เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างตาม ม.20/2518 ไหม

1. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานแผนกทะเบียน สังกัดฝ่ายบุคคลและกฎหมาย โดยเข้าวันที่ 14 ต.ค. 2542 ได้ค่าจ้างเดือนละ 17,000 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ขัดคำสั่งโดยชอบของจำเลย จำเลยสั่งย้ายโจทก์อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยจำเลยสั่งย้ายโจทก์จากกรุงเทพฯไปยังจ.ราชบุรี ขอให้จ่ายค่าเสียหาย 119,000 บาท และเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างเมื่อ 1 ต.ค. 2548

2. จำเลยให้การว่า มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะทำได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะงานและนโยบายการบริหารจัดการ คำสั่งจำเลยจึงเป็นคำสั่งโดยชอบ พนักงานตรวจแรงงานได้วินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จ่ายค่าชดเชย 51,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าว 17,000 บาท โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีกไม่ได้ จำเลยได้จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์รับไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีความเสียหาย ใด ๆ ที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เป็นเงิน 40,000 บาท

4. ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คำสั่งของจำเลยสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โรงงานของจำเลยที่ราชบุรีเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดแล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเป็นการละเมิดต่อโจทก์

5. ต้องวินิจฉัย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับค่าชดเชยเป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกันหรือไม่ เห็นว่าเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ถ้าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้างระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือนร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ดังนั้น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับค่าชดเชยจึงเป็นคนละเรื่องกัน ศาลให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว

6. พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com