คำพิพากษาฎีกาที่ 8803/2553

นายสรวุฒิ ลิ้มวรการ โจทก์

บริษัทเพอร์เฟ็คท์ ออฟฟิศ เฟอร์นิเจอร์ จำกัด จำเลย

เรื่อง การบอกเลิกสัญญาจ้าง หากมิได้ระบุความผิดและเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ จะยกขึ้นมากล่าวอ้างภายหลังมิได้ ต้องห้ามตามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54

1. โจทก์ฟ้องว่า บริษัท ไทยอิโตกิ จำกัด จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิต ได้โอนโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยจำเลยตกลงนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่อง และให้เงินเดือนโจทก์เท่าเดิม กับให้สวัสดิการแก่โจทก์เช่นเดียวกับที่โจทก์เคยได้รับจากบริษัทนายจ้างเดิม ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งพนักงานตรวจโชว์รูมค่าจ้างเดือนละ 46,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้จำเลยยังค้างค่าจ้างโจทก์ของเดือนธันวาคม 2548 เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย

2. จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ต้องทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย แต่โจทก์ไม่ได้ทำ จึงขัดคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณ จำเลยได้ตักเตือนโจทก์ให้ทำตามระเบียบ แต่โจทก์เพิกเฉย นอกจากนี้โจทก์ได้แสดงอาการไม่เคารพต่อผู้บังคับบัญชาและทำให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในบริษัทจำเลย พูดกับพนักงานตามโชว์รูมต่าง ๆ ว่าจำเลยเป็นคนเลวไม่มีศีลธรรมหลอกใช้โจทก์ จำเลยไม่เคยคิดลดเงินเดือน จำเลยให้โจทก์มารับเงินเดือนเอง เพื่อจำเลยจะได้ชี้แจงเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ที่ไม่ถูกต้องให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์ไม่มา จำเลยจึงยังไม่ได้จ่ายเงิน การกระทำของโจทก์ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต และการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วและฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยมิได้ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างและมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้า และไม่ยอมจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า วินิจฉัยว่า จำเลยไม่อาจยกข้อที่อ้างว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขึ้นต่อสู้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคสาม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

4. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ระบุเหตุผลในขณะเลิกจ้าง ยกเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้วก็ถือว่าจำเลยได้บอกเหตุผลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของโจทก์แล้ว ทำให้จำเลยสามารถนำพยานมาสืบเกี่ยวกับการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม (เดิม) ระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบโดยหากกระทำเป็นหนังสือ ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจา ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังได้

5. ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์พูดกับพนักงานอื่นว่า จำเลยเป็นคนเลวไม่มีศีลธรรม และไม่เคารพผู้บังคับบัญชาจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น สาเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริง เนื่องจากโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้จำเลยย้ายโจทก์ตามเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นการยกข้อกฎหมายขึ้นอ้าง แต่ก็เพื่อจะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า มิใช่เลิกจ้างเพราะโจทก์เคยฟ้องจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

6. พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com