คำพิพากษาฎีกาที่ 3451-3452/2549

บริษัท อัลมอนด์ (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์

นายธีรศักดิ์ บุญธรรม ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน และจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 40 จำเลย

เรื่อง เหตุเลิกจ้าง เนื่องจาก :

1. เมื่อลูกจ้างทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ละทิ้งหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ขณะยื่นข้อเรียกร้องเลิกจ้างได้ไหม

2. เมื่อพนักงานหยุดงานขณะยื่นข้อเรียกร้องและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยทำข้อตกลงในวันนั้นเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไหม

3. ทำข้อตกลงโดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 8 คน ผลจะเป็นอย่างไร

4. การชุมนุมหยุดงาน ซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาเป็นการละทิ้งหน้าที่ และจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหายและต่อมาเมื่อนายจ้างมีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษทางวินัย ภายหลังจะมาลงโทษได้ไหม

1. โจทก์ฟ้องว่า มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 24/2544 เรื่องสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยให้แก่นายลือชา กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายลือชากับพวกรวม 5 คน กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ละทิ้งการงานไปเสีย และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

2. นายยุทธศาสตร์ โสภิตะชา กับพวกรวม 45 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า ถูกโจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุเป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 และมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ตามคำสั่งที่ 125-169/44 โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอน กล่าวคือ พนักงานได้หยุดงานก่อนการยื่นข้อเรียกร้อง เป็นการผิดต่อระเบียบข้อบังคับในการทำงานและผิดขั้นตอนของการยื่นข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งตามกฎหมายแล้วโจทก์และพนักงานผู้ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องจะต้องเจรจากันภายใน 3 วัน หากไม่มีการเจรจาหรือตั้งตัวแทนเข้าเจรจาตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องจะต้องทำหนังสือแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กรณีนี้พนักงานหยุดงานและยื่นข้อเรียกร้อง พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาไกล่เกลี่ยและทำข้อตกลงในวันนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องประกอบกับจำนวนตัวแทนของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดไว้ไม่เกินฝ่ายละ 7 คน แต่ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างมีถึง 8 คน เป็นการทำข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ชุมนุมกันหยุดงานโดยไม่ถูกต้องละทิ้งหน้าที่หรือจงใจทำให้บริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 40.1.5, 42.3.2, 42.3.3, 51.4, 52.1 การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย

3. จำเลยร่วมทั้งหมดได้ชุมนุมกันหน้าบริษัทโจทก์โดยไม่เข้าทำงานเพราะไม่พอใจที่โจทก์จะงดจ่ายเงินโบนัสในปี 2543 ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 200 คนเศษ รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งหมด มีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างเข้าร่วมในการเจรจา 8 คน การเจรจาสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสให้ในวันที่ 10 เมษายน 2544 และวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โจทก์จะไม่เอาความผิดแก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่เข้าทำงานในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 และให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานปกติในวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ทั้งได้นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย บรรดาลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่ และเมื่อลูกจ้างขอกลับเข้าทำงานแล้ว ฝ่ายนายจ้างจัดให้ลูกจ้างรออยู่ที่โรงอาหาร โดยผู้บริหารของโจทก์พูดในลักษณะขอให้เลิกแล้วต่อกัน ให้ร่วมมือกันทำงานต่อไปโดยจะไม่นำเรื่องใดๆ จากเหตุการณ์นี้มาเป็นข้อบาดหมางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีก โจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในสำนวนคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใดที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปมาลงโทษด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/30)
www.paiboonniti.com