คำพิพากษาฎีกาที่ 3800/2553

นายณรงค์ ไชยวงศ์ โจทก์

บริษัท เจดีซี อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลย

เรื่่อง 1. การเลิกจ้าง โดยอ้างสัญญาที่มีกำหนดแน่นอน ลูกจ้างมีการทำงานต่อเนื่องเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่

2. กรณีอุทธรณ์การคำนวณคำสั่งเลิกจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกำหนดจ่ายค่าจ้าง เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่

1. โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2545 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 50,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างเดิม หากทำไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 600,000 บาท กับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 38,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว และค่าชดเชย 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นมา จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2. จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน เมื่อประธานกรรมการจำเลยเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อบริหารกิจการของจำเลยเองแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องว่าจ้างโจทก์อีกต่อไป โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้โจทก์แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติในการสมัครเข้าทำงานกับจำเลย ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขตามสัญญาจ้าง จำเลยไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน จำเลยได้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงไม่จำต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์อีก

3. ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 3 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าชดเชย 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาว่า จำเลยจะจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 20 และทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางไม่ถูกต้อง เป็นการรับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

5. พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/31)
www.paiboonniti.com