คำพิพากษาฎีกาที่ 1838/2554

นางสาวพรทิพย์ สิงห์พวงษ์ โจทก์ บริษัทเอกภาพซุปเปอร์ซัพพลาย จำกัด จำเลย

เรื่อง 1.สินค้าในคลังสินค้าสูญหายใครรับผิดชอบ
2.เมื่อเลิกจ้างยึดหน่วงเงินค้ำประกันได้ไหม
3.วิธีควบคุมสินค้าในคลังสินค้าทำอย่างไร
4.การรับสินค้า การจ่ายสินค้าควรทำอย่างไร
5.เงินประจำตำแหน่งเป็นค่าจ้างหรือไม่
6.วิธีคำนวณค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อถูกเลิกจ้าง

1.โจทก์ฟ้องว่า เดือนมีนาคม 2547 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง สุดท้ายตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้า ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,500 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,500 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน วันที่ 22 มิถุนายน 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งโจทก์มิได้กระทำผิดและไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,050 บาท ค่าชดเชย 45,000 บาท และเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับค่าเสียหาย 540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี

2.จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ครอบครองกำกับดูแลตรวจนับสินค้าเข้าและออกให้ครบจำนวนในสภาพเรียบร้อยพร้อมจำหน่ายให้แก่ลูกค้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 จำเลยเข้าตรวจนับสินค้าในคลังสินค้าระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 สินค้าในความรับผิดชอบของโจทก์สูญหายขาดจำนวนไป 9,932 รายการ เป็นเงิน 965,381 บาท ถือว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ซึ่งต้องตรวจนับ กำกับดูแลสินค้าเข้าออกในสินค้าทุกวันให้ครบถ้วนจำนวนที่แท้จริง จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน และจำเลยได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดสระบุรี วันที่ 22 มิถุนายน 2548 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์นำเงินค่าตำแหน่งมารวมเป็นค่าชดเชยไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินค้ำประกัน เพื่อหักทอนความเสียหายในคลังสินค้าที่สูญหายได้ จึงไม่ต้องคืน โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าชดเชยและเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ในเดือนธันวาคม 2547 ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อตรวจสอบสินค้าจึงพบสินค้าสูญหายขาดจำนวนไปตามเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.4 ในเดือนเมษายน 2547 ได้มีการตรวจสอบสินค้ากันไว้ และสินค้านั้นมาขาดจำนวนในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการคลังสินค้า เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงรายการสินค้าดังเช่นเอกสารหมาย จ. 10 หรือ ล. 4 ในเดือนเมษายน 2547 มาเปรียบเทียบครบตามจำนวนและจัดเก็บสินค้าให้เรียบร้อย สินค้าในคลังสินค้าของจำเลยถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การเบิก การจ่าย การนำสินค้าเข้ามาในคลังสินค้าจะได้รับการควบคุมจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จำเลยมิได้กำหนดให้มีการตรวจสินค้าเป็นปกติดังเช่นที่จำเลยตรวจนับและทำเอกสารหมาย จ. 10 หรือ ล. 4 โจทก์จึงไม่อาจทราบได้ว่าสินค้าในคลังสินค้าสูญหายขาดจำนวนไปหรือไม่ ขณะที่โจทก์เป็นผู้จัดการคลังสินค้า สินค้าขาดจำนวนไปสืบเนื่องจากลูกจ้างของจำเลยลักลอบนำสินค้าราคาสูงเข้าไปในกล่องที่มีสินค้าราคาต่ำแล้วนำออกมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่ได้นัดหมายกับลูกจ้างที่ทุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำหน้าที่โดยทุจริตหรือจงใจประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงดังที่จำเลยกล่าวอ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 45,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,050 บาท และเงินประกัน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

4.ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสินค้าของจำเลยสูญหายไป 9,932 รายการ เป็นเงินจำนวน 965,381 บาท โดยโจทก์ร่วมกับพนักงานอื่นและบุคคลภายนอกนำสินค้าของจำเลยออกไปจากคลังสินค้า การทำหน้าที่ของโจทก์จะอ้างว่าไม่เคยทราบว่าสินค้าสูญหายไปก่อนหรือขณะตนเองทำหน้าที่เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ จึงต้องถือว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

5.ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย และการคำนวณค่าชดเชยจะนำเงินค่าตำแหน่งอีก 1,500 บาท มารวมด้วยไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามที่จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จึงจ่ายไม่น้อยว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) ส่วนเงินตำแหน่งเป็นที่จำเลยให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน โดยไม่ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลืออื่นใดเงินค่าตำแหน่งจึงเป็นเงินที่มีจำนวนแน่นอนที่จำเลยตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์โดยนำค่าตำแหน่งไปรวมเข้ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายของโจทก์เป็นฐานในการคำนวณด้วยจึงชอบแล้ว ในส่วนของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทำงานเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน เมื่อทำงานครบ 1 ปี แล้วมีสิทธิได้รับเพียง 6 วัน ส่วนอีก 3 วัน โจทก์ทำงานในปีที่สองไม่ครบจึงไม่มีสิทธิได้รับ ที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นจำนวน 9 วัน จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 โจทก์จึงทำงานไม่ครบปีในปีที่เลิกจ้าง การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2548 จึงต้องบังคับความพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 ในกรณีที่นายจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง ตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 30 เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง รวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมรวม 9 วัน เป็นการวินิจฉัยโดยชอบ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ทำหน้าที่ไม่ชอบก่อให้เกิดความเสียหายในเงินถึง 965,381 บาท ย่อมมีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะยึดเงินประกันการทำงานจำนวน 2,000 บาท ไว้ได้นั้น เห็นว่า เงินประกันการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 เป็นเงินที่นายจ้างเรียกหรือรับจากลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างซึ่งต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานฟังได้ชัดว่าโจทก์ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์หรือไม่จำเลยจึงไม่อาจนำเงินประกันการทำงานนั้นชดใช้ความเสียหายได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยคืนเงินประกันการทำงานให้โจทก์จึงชอบแล้ว และที่จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่าการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ของเงินทุกจำนวนไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับเพียงร้อยละ 7.5 เท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันหรือไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าชดเชยให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้นการที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยในเงินทุกจำนวนให้อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี จึงถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว อุทธรณ์จำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

6.พิพากษายืน.

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com