คำพิพากษาฎีกาที่ 16006/2553
นายวิตโตริโอ แบร์ตินี่ โจทก์
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)จำเลย
เรื่อง1. สัญญาจ้างที่มีการกำหนดระยะเวลา และมีการต่อสัญญาติดต่อกัน เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนหรือไม่
2. สัญญาจ้างที่มีการบอกเลิกจ้างตามกำหนดในสัญญาจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม มาตรา 118 หรือไม่ และการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่
3. การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างโดยกำหนดเงื่อนไขว่าให้สละสิทธิฟ้องร้อง หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถือเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างหรือไม่ และนายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่ม ตามมาตรา 9 หรือไม่

1.โจทก์ฟ้องว่า เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าพ่อครัวที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า โดยทำสัญญาว่าจ้างมีกำหนดระยะเวลาและได้มีการต่อสัญญาติดต่อจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าให้โจทก์ทำงานถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือบอกเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันจ่ายค่าจ้าง จำเลยไม่ยอมโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีธนาคารให้โจทก์เหมือนที่เคยปฏิบัติ โจทก์สอบถามจำเลยแจ้งว่าโจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้ายก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมเซ็นชื่อในหนังสือสละสิทธิฟ้องร้องจำเลย โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเดือนสุดท้ายและค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอเรียกค่าชดเชย ค่าเสียหาย เงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามกฎหมายจากค่าจ้างและค่าชดเชย

2.จำเลยให้การว่า เข้ามาทำงานกับจำเลยครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ครบกำหนดการจ้าง
วันที่ 1 ธันวาคม 2544 โดยมีการต่อสัญญาจ้าง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ต่อสัญญานับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 และครั้งที่สองวันที่ 1 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นวันสิ้นสุดการจ้าง ที่โจทก์ฟ้องนั้นไม่เป็นความจริง มิใช่เกิดจากจำเลยเป็นฝ่ายมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ตามคำฟ้องแต่อย่างใด การต่อสัญญาว่าจ้างแต่ละครั้งเป็นการต่อตามคำร้องของโจทก์ จำเลยได้ชำระค่าจ้างเดือนสุดท้ายให้โจทก์ไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์มิได้ทำงานหลังวันที่ 31 มกราคม 2548 เป็น
กรณีของการสิ้นสุดการจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน จึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายที่กำหนดเพื่อการจ่ายค่าชดเชย จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2548 จำนวน 313,167 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 27 มกราคม 2548 แต่จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในกำหนดเวลาจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 828,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เลิกจ้าง (31 มกราคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้าง 133,167 บาท ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2548

4.โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ในสัญญาจ้างข้อ 1 ระบุให้การ
เลิกจ้างอาจทำได้ก่อนที่สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงตามกำหนดก็ได้ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน แม้ในสัญญาแต่ละฉบับตอนท้ายจะมีข้อความว่า เว้นแต่จะมีการเลิกจ้างก่อนหน้านั้นตามที่ระบุไว้ ก็เป็นเพียงการกำหนดเงื่อนไขการเลิกจ้างหากมีกรณีอื่นใดนอกจากการสิ้นสุดระยะเวลาการทำงานตามที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 1 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการทำงานที่กำหนดไว้แน่นอนแล้วตามความประสงค์ของคู่สัญญา จึงมิใช่การเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนตามสัญญาจ้างแรงงาน ระบุไว้ว่า สัญญาจ้างแรงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงมีพึงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยมีข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ระบุให้ไม่ต้องจ่ายเงินหรือหนี้สินใดๆนอกเหนือจากที่ระบุไว้อันเป็นเหตุให้จำเลยเข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แม้สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวจะไม่อาจบังคับได้ ก็มิใช่กรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าทุกเจ็ดวันให้แก่โจทก์ ส่วนเช็คเงินเดือนมกราคม 2548 ซึ่งจำเลยเตรียมไว้ให้โจทก์แต่จำเลยจะให้โจทก์รับไปได้เมื่อโจทก์ยอมลงลายมือชื่อสละสิทธิในการฟ้องเรียกร้องเงินใดๆจากจำเลย เป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ โจทก์จึงปฏิเสธที่จะรับเช็คค่าจ้างเดือนมกราคม 2548 ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนี้โดยตรง เมื่อจำเลยเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขจำกัดตัดสิทธิอื่นๆอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบ จึงถือได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2548 ให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มจากเงินค่าจ้างเดือนมกราคม 2548 นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง เป็นจำนวนร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างที่จ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com