คำพิพากษาฎีกาที่ 1836/2554

นายสมบัติ อ.วัฒนกุล โจทก์

การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 1
นายพิจารณ์ รัตนราตรี ที่ 2 จำเลย

เรื่อง1. ผู้มีอำนาจเลิกจ้างคือใคร
2. วิธีการมอบอำนาจเลิกจ้างทำอย่างไร
3. หากไม่มอบอำนาจเลิกจ้างให้ถูกต้องผลเป็นอย่างไร
4. ก่อนเลิกจ้างต้องมีการสอบสวนทุกครั้งไหม
5. ระเบียบการสอบสวนที่ดีควรมีเงื่อนไขอย่างไร
6. วิธีการสอบสวนต้องทำอย่างไร
7. หากใช้คำว่า ตรวจสอบความผิด ดีกว่า การสอบสวน ไหม
8. ยิ่งมีระเบียบการสอบสวนละเอียดมากเท่าใดก็ต้องทำให้ถูกขั้นตอน

1.โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2509 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงาน ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยนายสถานีรถไฟมักกะสัน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 27,880 บาท วันที่ 12 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย ได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไล่โจทก์ออกจากงานอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่นำเงินสดและหลักฐานใบสำคัญแทนตัวเงินสดของหน่วยงานต่างๆของจำเลยที่ 1 ส่งตามใบเสร็จนำส่งแบบ 17 ตามระเบียบรวม 74 ครั้ง เป็นเงิน 1,045,048.50 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างที่มีอำนาจสั่งลงโทษไล่ออก จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวโดยไม่มีการสอบสวน การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 167,280 บาท เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,226,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 337,348 บาท บำนาญเดือนละ 19,516 บาทตลอดชีพ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงาน หากจำเลยไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้โจทก์ได้ ขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จจำนวน 975,800 บาทแก่โจทก์

2.จำเลยที่ 1 ให้การว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและชอบด้วย
กฎหมาย เนื่องจากระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ขณะที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่นายสถานีมักกะสัน โจทก์มีหน้าที่รับส่งและรักษาเงินรายได้ของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภายในพบว่าโจทก์ไม่นำเงินและหลักฐานใบสำคัญแทนตัวเงินส่งให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ส่งฝ่ายการเดินรถเข้าทำการสอบสวนแล้วพบว่าเป็นความจริง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วตามข้อบังคับฯ

3.จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ
โดยเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายการเดินรถของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ได้ดำเนินการสอบสวนตามระเบียบข้อบังคับทุกขั้นตอนถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

4.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

5.ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายซึ่งได้รับมอบอำนาจ
การบริหารงานจากผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.88/3350 ย่อมมีอำนาจ
กระทำแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยลงโทษไล่โจทก์ออกได้
พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/30)
www.paiboonniti.com