คำพิพากษาฎีกาที่ 12194-12198/2553

นายไพรินทร์ ชื่นไสว ที่ 1 กับพวกรวม 6 คนโจทก์

บริษัท บางนา ซี.ดี. จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเสร็จแล้วออกไปจากบริษัทฯโดยไม่ตอกบัตรลงเวลา เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศของนายจ้าง ถือเป็นกรณีกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
2. วิธีการควบคุมการทำงานล่วงเวลาทำอย่างไร
3. ลูกจ้างไม่ปั๊มบัตรเข้าออก และนายจ้างยังไม่จ่ายค่าล่วงเวลาจะถือเป็นความผิดสำเร็จไหม

1. โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยเป็นใจความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2535 ถึงเดือนพฤษภาคม 2547 จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งหกทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถโฟล์คลิฟต์และพนักงานปล่อยตู้ในลาน ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งหกเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งหกตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน

2. จำเลยให้การว่า ประกอบกิจการรับฝากตู้เปล่าที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้า (คอนเทนเนอร์) โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรกลในลานเก็บตู้สินค้า ส่วนโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพตู้สินค้าที่ลูกค้าส่งมาฝาก เวลาในการให้บริการ 8.30 นาฬิกา ถึง 17.30 นาฬิกา ล่วงเวลาจะเริ่มเวลา 18.30 นาฬิกาเป็นต้นไป จนกว่างานจะแล้วเสร็จ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากวันที่ 28 มีนาคม 2549 ลูกค้าของจำเลยแจ้งว่าจะมีตู้สินค้าที่จะส่งเข้ามาฝากหลังเวลาปฏิบัติงานปกติ จำเลยจึงได้จัดให้มีพนักงานทำงานล่วงเวลาจำนวน 13 คน จำเลยจึงมอบหมายให้โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ควบคุมงานแทน เมื่อเวลา 21.15 นาฬิกา เข้ามาตรวจการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยได้รายงานว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาได้ออกไปจากบริษัทเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เวลาประมาณ 21.45 นาฬิกา หัวหน้าฝ่ายบุคคลได้ขับรถยนต์เข้ามาบริเวณลานเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ขณะมาถึงบริเวณโรงอาหารได้พบพนักงานที่ทำงานล่วงเวลาบางส่วนนั่งอยู่ในโรงอาหาร เมื่อกลุ่มพนักงานดังกล่าวเห็นหัวหน้าฝ่ายบุคคล กลุ่มพนักงานดังกล่าวจึงเดินไปที่เครื่องบันทึกเวลาเพื่อทำการลงบันทึกเวลาออก จากการตรวจสอบบัตรลงเวลาปรากฏว่า บัตรลงเวลาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่มีการบันทึกเวลาออก หัวหน้าฝ่ายบุคคลจึงได้ตรวจบริเวณบริษัทถึงเวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กลับเข้ามายังบริษัทอีก การกระทำดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบของบริษัทคือไม่ลงเวลาปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองมีพฤติกรรมให้บุคคลอื่นลงเวลาให้แทน เป็นการทุจริตต่อบริษัทโดยเจตนาลงเวลาปฏิบัติงานล่วงเวลาไม่เป็นความจริงอันจะมีผลประโยชน์จากการคำนวณค่าล่วงเวลาโดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำนวน 15,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 23,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6

4. โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2549 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ทำงานล่วงเวลา ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกาเศษ นายมานัส หัวหน้าฝ่ายบุคคลมาตรวจการทำงานล่วงเวลาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แต่ไม่พบโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ทำงานล่วงเวลาเสร็จเวลาประมาณ 21 นาฬิกาแล้วออกไปจากสถานที่ทำงานดังกล่าวโดยยังมิได้ลงบันทึกเวลาออกจากการทำงาน นายมานัสรอพบโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไม่กลับมา นายมานัสจึงกลับไป เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนเรื่องการตอกบัตรแทนกันหากฝ่าฝืน จำเลยจะลงโทษสูงสุดโดยการปลดจากการเป็นพนักงานทันที การตอกบัตรเวลาทำงานมีความสำคัญที่จำเลยยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การปกครองและระเบียบการทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะจำเลยมีลูกจ้างจำนวนมาก แม้โจทก์ดังกล่าวจะยังมิได้เบิกค่าล่วงเวลาเพราะถูกเลิกจ้างในวันที่ 31 มีนาคม 2549 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวส่อไปในทางทุจริตและถือได้ว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

5.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com