คำพิพากษาที่ 2127/2555

นางอัจฉราวรรณ   วจนานนท์                                              โจทก์

บริษัทซีบี  ริชาร์ด  เอลลิส (ประเทศไทย)  จำกัด                จำเลย

เรื่อง 1.ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุเกษียณอายุ 60 ปี แก้เป็น 55 ปี ได้ไหม
2.วิธีแก้ไขต้องทำอย่างไร
3.เมื่ออายุครบเกษียณต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าไหม
4.เมื่ออายุครบเกษียณต้องจ่ายค่าชดเชยไหม
5.แก้อายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ต้องทำอย่างไร
6.หากแก้ไขข้อบังคับเรื่องเกษียณอายุไม่ชอบด้วยกฎหมายผลจะเป็นอย่างไร
7.หนังสือยินยอมแก้ข้อบังคับควรมีข้อความอย่างไร
8.คู่มือพนักงานเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไหม
9.ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไหม

1.โจทก์ฟ้องว่า เป็นลูกจ้างวันที่ 5 มีนาคม 2533 จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยได้ทำบันทึกเป็นหนังสือเวียนถึงลูกจ้างขอแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุเมื่อ 55 ปี ต่อมาในปลายเดือนมิถุนายน 2549 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โจทก์มีกำหนดวันทำงานสุดท้ายคือวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และวันเกษียณอายุของโจทก์คือวันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง  เป็นการลดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างโดยจำเลยมิได้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนโจทก์มีอายุครบ 60 ปี เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นจากผลการทำงาน และในทุกสิ้นปีโจทก์จะได้รับเงินโบนัสจากจำเลยในอัตราร้อยละ 1 จากผลกำไรของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆเดือนละ 140,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี คิดเป็นเงินจำนวน 8,400,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าคอมมิชชั่นปีละ 500,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินจำนวน 2,500,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเงินโบนัสปีละ 800,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี คิดเป็นเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

2.จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นตามฟ้อง เนื่องจากค่าคอมมิชชั่นจำเลยจะพิจารณาจ่ายให้แก่พนักงานที่ทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ใช่เงินที่จ่ายเป็นประจำเมื่อโจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส เนื่องจากเงินโบนัสเป็นเงินที่จำเลยพิจารณาจ่ายให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานและจ่ายตามผลงานของแต่ละคนเท่านั้น และเป็นเงินที่อยู่ในอำนาจหรือดุลพินิจของจำเลย ไม่มีสัญญาหรือระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดเวลาเกษียณอายุจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับเดิม เมื่ออายุ 60 ปี มาเป็น 55 ปี ด้วยความสมัครใจและแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง โจทก์ได้ลงลายมือชื่อแสดงเจตนายินยอม ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4.ศาลฎีกา ฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเรียกว่า คู่มือพนักงาน เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 10 ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2548 จำเลยทำหนังสือเวียนแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุ โดยกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุในวันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งได้จัดทำใบรายชื่อลูกจ้างในแต่ละแผนกเพื่อให้ลูกจ้างทุกคนลงลายมือชื่อยินยอมปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่แก้ไขใหม่แนบไปท้ายหนังสือเวียนดังกล่าวด้วย ลูกจ้างทุกคนของจำเลยรวมทั้งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้น ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2549 จำเลยทำหนังสือแจ้งวันเกษียณอายุให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โดยระบุว่าโจทก์จะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่ 1 มกราคม 2550 เนื่องจากเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยยังมิได้ดำเนินการแจ้งขอแก้ไข้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของการเกษียณอายุไปยังอธิบดีกรมสวัสดิการ

5.จำเลยแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการเกษียณอายุจากเดิม 60 ปี เป็น 55 ปี อันไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยต้องดำเนินการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ เห็นว่า ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.4 ใต้ข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้อ่าน เข้าใจ ยินยอมและยินดีปฏิบัติตามข้อบังคับที่แก้ไขเรื่องเกษียณอายุตามหนังสือเวียน…ทุกประการ”  ถือได้ว่าโจทก์ตกลงยินยอมให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
6.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com