คำพิพากษาฎีกาที่ 4534/2549

บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด โจทก์

นายอนุมาศ นวลนันตา จำเลย

เรื่อง ลูกจ้างแอบนำข้อมูลการขายสินค้าและข้อมูลทางธุรกิจของนายจ้างไปใช้ประโยชน์แก่
บริษัทฯ ซึ่งลูกจ้างจัดตั้งขึ้นเอง มีความผิดอะไรบ้าง และจะต้องรับผิดอย่างไร

1. โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2546 โจทก์ติดต่อขายรีซีฟเวอร์ให้แก่บริษัท พารุ่ง อินเตอร
เนชั่นแนล จำกัด เพื่อใช้ติดตั้งในโครงการศูนย์วิปัสสนาของวัดพระธรรมกาย มีจำเลยร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้
ประสานงานติดต่อการขาย ติดต่อโรงงานผู้ผลิตสินค้าจำนวน 10,000 เครื่อง ราคาเครื่องละ 5,339.30 บาท
แต่จำเลยได้จัดตั้งบริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี แมทชิ่ง จำกัด ขึ้นในขณะที่จำเลยยังเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่
แอบนำข้อมูลการขายสินค้าและข้อมูลทางธุรกิจ ของโจทก์กับลูกค้ารายดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ให้แก่
บริษัทที่จำเลยจัดตั้งขึ้น แล้วเสนอขาย ในราคาที่ถูกกว่าโจทก์ให้แก่ลูกค้ารายดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 50,000 เครื่อง
ในราคาเครื่องละ 2,765 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 138,250,000 บาท เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
จงใจทุจริตต่อหน้าที่ ผิดสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับการทำงานของโจทก์ เป็นการกระทำละเมิดทำให้
โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 138,250,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2. จำเลยให้การใจความว่า บริษัทที่จำเลยจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรองรับงานบริการบำรุงรักษาและ
ซ่อมแซมรีซีฟเวอร์ซึ่งจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตและหวังที่จะได้ โจทก์เป็นลูกค้าด้วย ไม่มีวัตถุประสงค์
แข่งขันทางธุรกิจกับโจทก์ การนำเข้าสินค้ารีซีฟเวอร์จากผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรงและตกลงกันให้บริษัทที่
จำเลยเปิดขึ้นได้รับส่วนต่างที่เหลือภายหลังหักค่าใช้จ่ายค่าสินค้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ออกจากราคาที่กำหนด
ไว้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

3. โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อเสนอขาย
สินค้ารายนี้ แต่กลับไปดำเนินการดังที่กล่าวมา จึงไม่สมแก่หน้าที่ของลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติต่อนายจ้างด้วยความ
ซื่อสัตย์สุจริต และปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ให้ศาลแรงงานกลาง
วินิจฉัยในประเด็นค่าเสียหายของโจทก์ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/30)
www.paiboonniti.com