Site icon ทนายแรงงาน ไพบูลย์นิติ ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน

พนักงานขับรถ มีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหาร

คำพิพากษาที่ 2962/2555

นายสุวัฒน์ ปรีชาธรรม                                                 โจทก์

บริษัททางด่วนกรุงเทพ  จำกัด (มหาชน)                    จำเลย

เรื่อง  1.พนักงานขับรถ มีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหาร
2.ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน
3.ปฏิเสธทำงานในวันนักขัตฤกษ์ในกรณีจำเป็น
4.ไม่ให้ความร่วมมือทำงานล่วงเวลา
5.ลาป่วยหรือลาฉุกเฉินทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารงาน
6.มีกิริยาก้าวร้าวไม่เคารพผู้บังคับบัญชา
7.อารมณ์ไม่ดีจะขับรถเร็ว
8.ละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร

1.โจทก์ฟ้องว่า 16 มกราคม 2542 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,320 บาท วันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุสมควรเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างและมีสิทธิที่พนักงานพึงมีได้ทุกประการ หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 1,317,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

2.จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถประจำแผนกจัดเก็บค่าผ่านทาง  มีหน้าที่รับส่งเอกสารรายงานการจัดเก็บค่าผ่านทางและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  ระหว่างอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางต่างๆ ในโครงการระบบทางพิเศษศรีรัชกับสำนักงานต่างๆ ของจำเลยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  รวมทั้งมีหน้าที่รับส่งพนักงานสำรองของจำเลยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในตำแหน่งพนักงานเก็บค่าผ่านทาง  พนักงานควบคุมด่านเก็บค่าผ่านทางหัวหน้าพนักงานเก็บค่าผ่านทาง  เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามอาคารด่านเก็บค่าผ่านทางในโครงการระบบทางพิเศษศรีรัชตลอดถึงรับส่งพนักงานฝ่ายจัดการของแผนกจัดเก็บค่าผ่านทางหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ที่อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางในโครงการระบบทางพิเศษศรีรัช โดยโจทก์จะต้องปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่กำหนดในตารางการปฏิบัติงาน  โจทก์มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานอันเป็นอุปสรรคต่อผู้บังคับบัญชาในการบริหารงาน  โจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน  เช่น กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่พนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องเดินทางไปสถานที่อื่น  แต่เป็นช่วงพักงานของโจทก์  โจทก์จะปฏิเสธไม่ขับรถให้  เมื่อถึงเวลาเลิกงานโจทก์จะเดินทางกลับโดยไม่แจ้งพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทราบล่วงหน้ารวมทั้งไม่อยู่รอพนักงานขับรถซึ่งปฏิบัติงานในกะถัดไปมารับหน้าที่ จำเลยได้รับการร้องเรียนจากพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งนอกจากนี้โจทก์เป็นพนักงานขับรถเพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ทั้งๆ ที่ลักษณะการทำงานจะต้องให้บริการตลอดเวลา  ไม่สามารถให้พนักงานขับรถทุกคนหยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้  แต่จะต้องสลับเปลี่ยนกัน ทำให้หัวหน้างานจัดตารางเวลาทำงานของพนักงานขับรถเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ทั้งโจทก์มักปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกรณีทำงานล่วงเวลาหรือทำงานกะแทนกรณีพนักงานขับรถคนอื่นลาป่วยหรือลาฉุกเฉินซึ่งการกระทำของโจทก์ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารงานของจำเลย  นอกจากนั้นโจทก์มีกิริยาก้าวร้าวไม่เคารพต่อผู้บังคับบัญชา  และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  เช่น การใช้เท้าถีบกล่องเอกสารจากชั้น 2 ของอาคารเพื่อให้เลื่อนไหลลงตามขั้นบันไดโดยโจทก์อ้างว่ายกไม่ไหว การโยนใบรับค่าผ่านทางที่บรรจุในหีบห่อออกจากหน้าต่างแล้วจึงนำรถมาขนในจุดที่โยนอ้างว่าเพื่อประหยัดพลังงาน   อีกทั้งการทำงานของโจทก์มักขึ้นกับอารมณ์  เมื่อโจทก์อารมณ์ไม่ดีก็จะขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจนทำให้พนักงานของจำเลย และพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่โดยสารในรถยนต์คันที่โจทก์ขับเกิดความหวาดกลัว  เคยละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร   จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนไปยังโจทก์แล้ว  การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม  จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยสิ้นจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิแก่โจทก์แล้ว  อีกทั้งโจทก์ได้สละสิทธิเรียกร้องจากจำเลยรวมถึงการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังกล่าวด้วย  ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4.ศาลฎีกา ฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลนับตั้งแต่วันดังกล่าวโดยจำเลยได้จ่ายค่าชดเชย  สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิแก่โจทก์แล้ว  โจทก์มีพฤติกรรมที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานโดยมิได้มีการแก้ไขปรับปรุง  โจทก์ขับรถด้วยความเร็วและน่าหวาดเสียวโดยไม่ควบคุมอารมณ์  และโจทก์ละทิ้งงานไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

5. การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจะยกเหตุว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่มาเป็นข้อต่อสู้ที่จะไม่ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ เห็นว่า หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายชดเชย  นายจ้างต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยมิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้  จึงเห็นได้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือและต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างจำกัดเพราะการอ้างหรือข้อต่อสู้ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 เท่านั้น  ดังนั้น แม้นายจ้างจะไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกสัญญาจ้างไว้นายจ้างก็ยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างหรือต่อสู้ในคำให้การที่จะไม่ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้

6.การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เห็นว่า  การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างหมายถึง  การเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือ  มีสาเหตุแต่ยังไม่สมควรถึงขนาดที่จะเลิกจ้าง  หรือสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาจ้าง หรือการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด  หรือการเลิกจ้างโดยมีเจตนาจะกลั่นแกล้งลูกจ้างเป็นต้น  ต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่  เหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ  คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานโดยไม่ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมในการขับรถ  โดยขับรถด้วยความเร็วน่าหวาดเสียวไม่ควบคุมอารมณ์ในขณะขับรถ  ตลอดจนละทิ้งงานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานขับรถซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่สำคัญเพราะเป็นหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นและผู้โดยสาร คือ พนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและพนักงานของจำเลย  จึงต้องขับรถด้วยความระมัดระวังทั้งต้องให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อให้จำเลยสามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดพนักงานขับรถได้  ก่อนโจทก์ละทิ้งงาน  จำเลยตักเตือนโจทก์เรื่องการทำงาน  โจทก์ต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการทำงานแต่โจทก์กลับเพิกเฉย  ทั้งยังไม่ให้ความร่วมมือและละทิ้งงาน  การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการของจำเลยและอาจก่อให้เกิดปัญหาในความไม่ปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ จำเลยจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์  การเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

7.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com


Exit mobile version