คำพิพากษาฎีกาที่ 5679/2554

นางสุดารัตน์หรืออนงค์กาญจน์ ฤทธิ์มนตรี โจทก์
นายวันภพ วงษ์ภักดีศักดิ์ ที่ 1

บริษัทเอกชัย ดีสทรีบิวชั่นซิสแทม จำกัด ที่ 2
นายเจฟฟ์ อดัมส์ ที่ 3 จำเลย

เรื่อง1.ไม่นำเงินที่ได้จากการขายเข้าเครื่องระบบแคชเชียร์หลังจากปิดการขายเป็นการทุจริตหรือไม่
2.เหตุเลิกจ้างควรอ้างเหตุผลอะไรบ้าง
3.วิธีเขียนคำสั่งเลิกจ้างควรเขียนอย่างไร
4.เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่

1. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหาร แผนกอาหารสด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 38,863 บาท ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์จึงไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะหนักงานตรวจแรงงาน ว่าจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายค่าชดเชย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งที่ 8 ที่ 2/2550 ลงวันที่ 9 มกราคม 2550 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 8 ที่ 2/2550 กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมชำระค่าชดเชย 349,767 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 14,518,839 บาท

2. จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์เข้าเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119(1) (4) จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

3. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่ใช่นายจ้างและไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้ง เพราะเห็นว่า เป็นชาวต่างชาติจึงหาเหตุฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอาหารสด โจทก์ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากโจทก์ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายกล่าวคือ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขายไส้กรอกได้เงิน 375 บาท แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 2 โดยไม่นำเงินดังกล่าวเข้าเครื่องระบบแคชเชียร์ภายในวันนั้นทันทีเพื่อปิดการขาย กลับครอบครองไว้เสียเอง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

4. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

5. ศาลฎีกา ในการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียว ไม่เคยให้โอกาสโจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงและนำพยานหลักฐานมาแสดงทั้งพยานที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำมาให้การก็ไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์เอาเงิน 375 บาท ที่ได้จากการขายไส้กรอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแต่จำเลยที่ 1 กลับฟ้องข้อเท็จจริงว่าโจทก์เอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการทุจริตต่อหน้าที่เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นการปิดเปื้อนข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าการสอบสวนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

6. ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่นำเงินที่ได้จากการขายสินค้าเข้าเครื่องระบบแคชเชียร์ภายในวันนั้นทันทีหลังจากปิดการขายตามระเบียบ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายและทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พุทธศักราช 2541 มาตรา 119(1)(2) และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com