คำพิพากษาฎีกาที่ 16044-16045/2553

นายวัยวุฒิ พันธุ์เสือ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน โจทก์

บริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) จำเลย

เรื่อง (1)เลิกจ้างพนักงานขับรถแล้วจัดจ้างผู้รับเหมามาขับรถแทนได้ไหม
(2) ได้โบนัสทุกสิ้นปี แต่ถูกเลิกจ้างเดือนตุลาคมจะได้โบนัสตามส่วนไหม
(3) ปรับลดพนักงานลง เพื่อลดขนาดองค์กรต้องเป็นการปรับลดจำนวนมากหรือจำนวนน้อย จึงสมเหตุสมผล

1.โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถ เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 และวันที่ 1 มีนาคม 2521 ตามลำดับ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,500 บาท และเดือนละ 21,050 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยประกอบกิจการมีผลกำไรตลอดมา ต่อมาจำเลยต้องการจ้างบริษัทอื่นมารับช่วงในการจัดหาพนักงานขับรถยนต์แทน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2547 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน จำเลยจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานทุกปีคนละไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเงินเดือน ในปีที่เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 10 เดือน ขอให้จ่ายโบนัสในส่วนที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้เป็นเงิน 22,500 บาท และ 35,083 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,483,000 บาท และ 1,825,400 บาท ขอให้บังคับจำเลย

2.จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 และวันที่ 12 ตุลาคม 2547 โดยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2547 จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว สำหรับโบนัสจำเลยจะพิจารณาจ่ายเป็นคราวๆ และเป็นกรณีไปภายใต้เงื่อนไขการจ่ายที่จะแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นคราวๆไป การจ่ายโบนัสหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลย โดยจำเลยจะพิจารณาโบนัสหลังจากทราบผลการประกอบการและผลกำไรเมื่อสิ้นงวดบัญชีในสิ้นเดือนธันวาคม 2547 เท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัส จำเลยยกเลิกการประกอบธุรกิจเงินทุน และเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทเครดิตซึ่งจะทำให้ขนาดธุรกิจของจำเลยเล็กลง และมีความจำเป็นต้องวางแผนบุคลากรใหม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการปรับตัวตามภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 70,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และค่าเสียหาย 340,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

4.ศาลฎีกาเห็นว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2547 แต่ในวันที่ 31 ตุลาคม 2547 จำเลยก็ยังคงต้องมีบุคคลทำหน้าที่ขับรถให้แก่จำเลยอยู่เช่นเดิม และไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าหากไม่เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้ว กิจการของจำเลยจะอยู่ไม่รอด ทั้งไม่ปรากฏว่าหลักฐานหรือตัวเลขที่แสดงว่าจำเลยได้ปรับลดค่าใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าใดจากการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและจ้างเหมาบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่แทนการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของจำเลยและเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจำเลยเท่านั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นเพียงพอ โจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดหรือข้อบกพร่องใด

5.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com