คำพิพากษาฎีกาที่ 10907/2553

นางสาวสุธิลา ลืนคำ โจทก์

บริษัท เอ็มเอ็มไอ พรีซิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลย

เรื่อง(1)เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างตามคำสั่งของศาลแรงงานและศาลฎีกา มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
(2)นายจ้างขาดทุนมากและต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี จำเป็นต้องลดลูกจ้างจำนวนมาก และยุบหน่วยงานที่กรรมการลูกจ้างทำงาน ศาลอนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้
(3)เมื่อศาลแรงงานอนุญาตให้เลิกจ้าง หากลูกจ้างฎีกาจะเลิกจ้างได้ไหม

1.โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,985 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อปี 2547 จำเลยขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าได้ยุบแผนกที่โจทก์ทำงาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 และศาลฎีกาพิพากษายืน ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชย 300 วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 10 วัน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงิน 171,943 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

2.จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ แต่เป็นผลเนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนสะสม ขอให้ยกฟ้อง
2.1 ระหว่างพิจารณา จำเลยได้ชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่โจทก์แล้วรวมเป็นเงิน 98,216.50 บาท

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ปี 2543 ถึง 2545 จำเลยมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 194,000,000 บาท 124,000,000 บาท และ 170,000,000 บาท ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2547 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์อีกโดยอ้างว่าจำเลยขาดทุนต่อเนื่อง จำต้องปรับลดลูกจ้างลงเพื่อให้พอเหมาะแก่งาน จึงยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำอยู่ ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกายกอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย แล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

4.ศาลฎีกา เห็นว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นกรณีที่จำเลยดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ภายใต้ดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่อนุญาต จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com