คำพิพากษาฎีกาที่ 3987-4329/2553

นายประทีป ขอนพุดซา กับพวกรวม 329 คน โจทก์

บริษัท เอราวัณสิ่งทอ จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. เงินประจำตำแหน่ง และค่าครองชีพต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด หรือไม่

2. ค่าครองชีพที่ถือเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 นั้นหมายถึงอะไร และหากค่าครองชีพเป็นค่าจ้างตาม มาตรา 5 แล้ว จะต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดหรือไม่

1. โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยบางส่วนเป็นลูกจ้างรายวัน บางส่วนเป็นลูกจ้างรายเดือน มีเวลาทำงานตามปกติตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งนอกจากโจทก์ทุกคนจะได้รับค่าจ้างในวันทำงานแล้ว ยังได้รับค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน จำเลยไม่ได้นำค่าครองชีพที่จ่ายให้แก่โจทก์ทุกคน คนละ 900 บาท และเงินประจำตำแหน่งของโจทก์บางคนที่ได้รับมาเป็นฐานในการคำนวณค่าตอบแทน จึงเป็นการคำนวณที่ไม่ถูกต้อง ขอให้บังคับให้จำเลยนำค่าครองชีพ และเงินประจำตำแหน่งมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดในส่วนที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์ทุกคนย้อนหลังเป็นเวลา 2 ปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหกร้อยห้าสิบสี่

2. จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับว่าโจทก์ทุกคนทำงานล่วงเวลาวันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด เดือน ปีใด จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม เงินที่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการในการครองชีพของลูกจ้าง เพิ่มเป็นแรงจูงใจในการทำงาน ดังนั้นค่าครองชีพและเงินประจำตำแหน่งจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

3. ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งทุกคนย้อนหลังเป็นเวลา 2 ปี โดยคำนวณจากเงินประจำตำแหน่งของโจทก์เหล่านั้นตามตารางพนักงานที่มีเงินประจำตำแหน่ง

4. โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ปัจจุบันสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยเกือบทุกปีและในการ ยื่นข้อเรียกร้องนั้นในบางปีจะเรียกร้องให้จำเลยเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างทุกคน ส่วนโจทก์ที่ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เงินประจำตำแหน่งที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามบัญชีรายชื่อ แต่โจทก์ยังฟ้องให้จำเลยนำเงินประจำตำแหน่งมาเป็นฐานคำนวณให้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องในอนาคตถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ที่เป็นพนักงานรายวันมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาส่วนที่ขาดในอัตรา 2 เท่า ของเงินประจำตำแหน่งในส่วนที่ขาด และโจทก์ที่เป็นพนักงานรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาส่วนที่ขาดในอัตรา 1.5 เท่า ของเงินประจำตำแหน่งในส่วนที่ขาด

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ทุกคนมีจำนวนแน่นอนเป็นประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง แม้ในวันหยุดและวันลาที่โจทก์ดังกล่าวมิได้ทำงานก็มีสิทธิได้รับค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย จำเลยต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งหมดด้วย ต่อมามีการปรับเพิ่มจำนวนเงินจากข้อเรียกร้องของพนักงานและเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ค่าครองชีพ ทำให้ค่าครองชีพดังกล่าว เปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อสวัสดิการอย่างเดียวและการที่จะพิจารณาว่า ค่าครองชีพดังกล่าวจะเป็นสวัสดิการพนักงานหรือเป็นค่าจ้างตามกฎหมายจะดูแต่เพียงวัตถุประสงค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาลักษณะการจ่ายเงินดังกล่าวประกอบ เมื่อจำเลยจ่ายเงินค่าครองชีพให้พนักงานทุกคนมีจำนวนแน่นอนเป็นประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างจึงเป็นค่าจ้างตามเหตุผลดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดในประเด็นนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาแก้ไขโดยให้นำค่าครองชีพมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ดังกล่าว

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/31)
www.paiboonniti.com