คำพิพากษาฎีกาที่ 3631-3667 / 2552

นายวินัย พูลศิลป์ ที่ 1 กับพวกรวม 37 คน โจทก์

บริษัท ลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. เงินค่าเที่ยว ในการขับรถบรรทุกสินค้าตามระยะทางใกล้ไกลเป็นเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานขับรถหรือเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ

2. ลูกจ้างขับรถบรรทุกสินค้างานขนส่งทางบก ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่

1. โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งสินค้าให้ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสทั่วประเทศ ลักษณะการทำงานเป็นรอบๆ ละ 14 วัน ในแต่ละรอบ 14 วัน โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดจะได้หยุดงาน 2 วัน ส่วนอีก 12 วัน ต้องทำงานตลอด 24 ชั่งโมง คิดเป็นชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมง นอกเวลาทำงานปกติ 16 ชั่วโมง โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดขอคิดค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติเป็นเวลา 2 ปี ย้อนหลังถึงวันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่ วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

2. จำเลยให้การว่า เดิมพนักงานขับรถของจำเลยทำงาน 12 วัน หยุด 2 วัน ต่อมาเดือนตุลาคม 2548 ได้เปลี่ยนเป็นทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน การทำงานของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดนั้นเป็นไปตามกฎหมายโดยทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง หยุดพัก 1 ชั่วโมง การทำงานของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดเป็นประเภทงานขนส่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำและเงินค่าเที่ยวต่อการขับรถแต่ละเที่ยวมากน้อยตามระยะทางใกล้ไกล ซึ่งได้รวมค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวอีก เงินค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง00

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4. โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัย เงินค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ ซึ่งเงินค่าเที่ยวดังกล่าวมิได้จ่ายเพื่อจูงใจการทำงานของพนักงานขับรถและวินิจฉัยว่า การทำงานของโจทก์ทั้งหมดไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการทำงานได้อย่างแน่นอน จำเลยจึงใช้วิธีการกำหนดค่าเที่ยวเพื่อตอบแทนการทำงาน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ได้นิยามคำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและไม่ได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติแล้วว่างานที่โจทก์ทั้งหมดต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จากศูนย์กระจายสินค้าไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและ ค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกลที่ต้องขับรถไปทำงานในแต่ละเที่ยว กำหนดอัตราค่าเที่ยวไว้เป็นจำนวนแน่นอนสามารถคำนวณได้ตามระยะทาง ตามตารางกำหนดอัตราค่าเที่ยวเอกสารหมาย จ.ล. 2 โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ เห็นได้ว่าค่าเที่ยวดังกล่าวกำหนด ขึ้นตามระยะทางเป็นสำคัญโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ แสดงว่าค่าเที่ยวดังกล่าวไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ จึงไม่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้ พนักงานขับรถเป็นการตอบแทน การทำงานเกินเวลาทำงานปกติ เงินค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง แม้โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 65 (8) (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งหมดสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้นด้วย โจทก์ทั้งหมดจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์ทั้งหมดได้ทำงานเกินจากวันละ 8 ชั่วโมง โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินค่าเที่ยวรวมกับเงินเดือนได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละหรือชั่วโมงละเท่าใด แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงนั้นมาคำนวณค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปแต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่ให้เกินคำขอของโจทก์แต่ละคน

5. อนึ่ง ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงจำนวนเงินค่าตอบแทนในการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี

6. พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคท้าย

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/30)
www.paiboonniti.com