คำพิพากษาฎีกาที่ 12716 – 12718/2555

นายกฤษดา  ธุระสะ       ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน         โจทก์ 

บริษัท ยางสยามพระประแดง จำกัด                         จำเลย

เรื่อง  1.     ลูกจ้างไม่ยินยอมตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานใหม่ ให้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ การจ้างเดิมไม่เป็นการฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชย  
ตามกฎหมาย
       2.     ลูกจ้างไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามนโยบาย การจ้างรายชั่วโมงเปลี่ยนเป็นจ้างรายเดือน ทำให้นายจ้าง ได้รับผลกระทบ ต่อระบบการบริหารงานบุคคล และระบบบริหารค่าจ้าง เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ ของ ตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริต นายจ้างเลิกจ้าง ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

1.       โจทก์ทั้งสามฟ้องทำนองเดียวกันว่า  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 วันที่  1  มกราคม  2536  และวันที่  17  พฤษภาคม  2537   จำเลยว่าจ้างโจทก์ ทั้งสามเป็นพนักงานฝ่ายผลิต  ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายชั่วโมงละ  70.43  บาท  56  บาท  และ  48.60  บาท   ตามลำดับ  ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันที่  7  และวันที่  22  ของเดือน  ต่อมาวันที่  8  ธันวาคม  2547  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่  1  และวันที่  3  ธันวาคม  2547  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่  2  และ  3  โดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่  1  โจทก์ที่  2  และโจทก์ที่  3  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่  1  โจทก์ที่  2  และโจทก์ที่  3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่  1  โจทก์ที่  2  และโจทก์ที่  3  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
 2.        จำเลยให้การว่า  โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย  ต่อมาบริษัทในกลุ่มมิชลินกรุ๊ป  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมระหว่างเครือซีเมนต์ไทยและมิชลินประเทศฝรั่งเศส   มีนโยบายและวิธีการบริหารงานบุคคลให้เป็นระบบเดียวกัน  จึงได้เปลี่ยนอัตราค่าจ้างจากรายชั่วโมงเป็นรายเดือนและแจ้งให้โจทก์ทั้งสามแจ้งความจำนงต่อผู้บังคับบัญชา  แต่โจทก์ทั้งสามเพิกเฉย  จำเลยมีหนังสือเตือนแล้ว  แต่โจทก์ทั้งสามไม่สนับสนุนนโยบาย  ระเบียบหรือคำสั่งของจำเลย  อีกทั้งยังเป็นปฏิปักษ์และต่อต้านการทำงาน  เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย  โจทก์ทั้งสามทำผิดซ้ำคำเตือน  จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม  ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
 3.      ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสาม  กับให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม  ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้หักหนี้ในวันนั้น ๆ ด้วย
4.        โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่  1  และวันที่  3  ธันวาคม  2547  จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่  2  และที่  3  โจทก์ทั้งสามร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่  19 – 21/2548  ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ.  2518  มาตรา  123  ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่  1  โจทก์ที่  2  และโจทก์ที่  3  มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามและจำเลยว่า  การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามนั้น  จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่  การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่  เห็นว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามมาจากการที่จำเลยมีนโยบายให้พนักงานทุกคนเปลี่ยนสภาพจากพนักงานรายชั่วโมงเป็นพนักงานรายเดือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับระบบการจ่ายเงินเดือน การจัดทำระบบบัญชี การลดงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น การเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเงินเดือนนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งไม่ปรากฏว่าไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า จำเลยจึงสามารถทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20  การที่โจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานใหม่ให้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม กรณีเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม การที่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายทำให้จำเลยได้รับผลกระทบต่อระบบการบริหารค่าจ้าง  ระบบการบริหารบุคคลและบัญชีและแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่สามารถทำงานในระบบเดียวกันกับลูกจ้างอื่น จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม  การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีผลผูกพันจำเลยและให้จำเลยนำค่าเสียหายที่จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวหักจากหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในคดีนี้ด้วยนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 19 – 21/2548  จึงมีผลผูกพันจำเลยและจำเลยไม่มีสิทธินำค่าเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวมาหักจากค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีนี้ อุทธรณ์โจทก์ทั้งสามและอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามและมิให้จำเลยนำค่าเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำสั่ง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ 19 – 20/2548 หักจากหนี้ที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลแรงงานกลาง

  


รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
C.63