คำพิพากษาที่ 749/2554

บริษัทบอร์เนียว เทคนิเคิล (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์

นางสาวสุกัญญา พันธ์แวงมนต์ จำเลย

เรื่อง 1. ลูกจ้างไปร้องเจ้าหน้าที่เกินกว่า 2 ปี แต่นายจ้างไม่ได้ต่อสู้เรื่องอายุความไว้ แต่มายกต่อสู้ในชั้นศาลได้หรือไม่

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานกรมสวัสดิการฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า นายชัยวัฒน์ ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยอ้างว่าโจทก์ค้างค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งที่ 43/2547 ลงวันที่ 3 กันยายน 2547 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 10,039.79 บาท ให้นายชัยวัฒน์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยยังไม่ถูกต้อง ก็ล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปี ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง

2. จำเลยให้การว่า ระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 นายชัยวัฒน์ทำหน้าที่พนักงานส่งเสริมการขาย ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 ทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่ให้บริการสาธิตสินค้าเสนอขายสินค้า ซึ่งตามตารางทำงานช่วงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2545 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท โดยลูกจ้างยืนยันว่ามีการไปทำงานในวันหยุดตามตารางการเดินทางไปทำงานเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2546 จึงเห็นว่าลูกจ้างมีการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์จริง ส่วนเรื่องอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ซึ่งลูกจ้างเพิ่งทราบว่าตนมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดในขณะที่ไปใช้สิทธิร้องทุกข์แก่จำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 จึงยังไม่ล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปี คำวินิจฉัยของจำเลยจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2545 โจทก์รับนายชัยวัฒน์ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายพนักงานขายได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,000 บาท วันที่ 1 มิถุนายน 2547 จำเลยเลิกจ้างนายชัยวัฒน์ ต่อมานายชัยวัฒน์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อ 7 กรกฎาคม 2547 แต่ในชั้นพิจารณาคดีของศาล โจทก์กลับนำข้อเท็จจริงที่ไม่เคยแจ้งต่อจำเลยมาเสนอต่อศาล จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากโจทก์ได้ให้ข้อเท็จจริงกับจำเลยในเรื่องอายุความแล้ว ก็อาจจะมีผลให้คำสั่งของจำเลยเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 43/2547

4. ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว การที่โจทก์มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงของ
พนักงานตรวจแรงงาน แล้วจะสามารถยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ และการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานอาจมีข้อบกพร่อง ซึ่งคู่ความอาจอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น สิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของนายชัยวัฒน์ขาดอายุความหรือไม่ แต่ในชั้นพิจารณาของศาลกลับนำข้อเท็จจริงที่ไม่เคยแจ้งต่อจำเลยมาเสนอต่อศาล เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงไม่อาจนำมาหักล้างคำสั่งของจำเลยได้ โดยศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของนายชัยวัฒน์ ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ขาดอายุความหรือไม่ แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(9) ให้มีกำหนดอายุความสองปี ดังนั้นสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 รวม 6 วัน จึงเกินกว่ากำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9)

5. พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 43/2547 เฉพาะในส่วนที่สั่งให้โจทก์นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 จำนวน 6 วัน รวมเป็นเงิน 2,418.30 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com