คำพิพากษาฎีกาที่ 5992-5998 / 2553

นายสมัย อัมพวา ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน โจทก์

บริษัท ไอโอ – เซิร์ฟ จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. ลูกจ้างในงานขนส่งทางบก ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

2. สัญญาประนีประนอมยอมความ มีข้อความบันทึกว่า จะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เป็นการสละสิทธิเรียกร้องโดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นโมฆะ มีผลบังคับใช้

3. งานขนส่ง คืออะไร

4. เมื่อทำงานล่วงเวลา นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าอะไร

1. โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า เป็นลูกจ้างของจำเลยสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ตำแหน่งสุดท้ายในตำแหน่งพนักงานขับรถเทรลเลอร์กึ่งพ่วงบรรทุกสินค้า โจทก์ที่ 2 และที่ 7 ทำงานในตำแหน่งพนักงานยกของประจำรถเทรลเลอร์ โดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างเป็น(1)รายเดือน เดือนละ 4,560 บาท นอกจากค่าจ้างรายเดือนแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 จะได้รับ(2)เงินจูงใจเฉลี่ยประมาณเดือนละ18,000 บาท ซึ่งเงินจูงใจที่จำเลยจ่ายนั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงาน ย่อมถือว่าเงินจูงใจเช่นว่านี้เป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานให้แก่โจทก์ จำเลยยังได้จ่าย (3)เงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 7 ได้ทำงานโดยประจำรถบรรทุกขนส่งวัตถุดิบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามที่จำเลยได้สั่งซึ่งจำเลยตกลงจ่ายในอัตราเดือนละ 2,800 บาท เป็นประจำทุกเดือนย่อมถือว่าเป็นค่าจ้างด้วยตามกฎหมาย ทำงานวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยได้กำหนดเวลาเริ่มทำงานในเวลา 13 นาฬิกา แต่มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดการทำงานแล้วแต่ว่ารถจะกลับถึงบริษัทจำเลยเมื่อใด โดยหนึ่งวันโจทก์ทั้งเจ็ดต้องทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับ (4)ค่าล่วงเวลาในอัตราหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ จำเลยได้ให้โจทก์(5)ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และจำเลยให้โจทก์ทั้งเจ็ด(6)ทำงานในวันหยุดตามประเพณี โจทก์ ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มในอัตราหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับ(7)ค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราเท่ากับอัตราค่าจ้าง ต่อชั่วโมง สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามจำนวนชั่วโมงที่ทำได้ จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3, 4, 5 และ 6 คนละ 571,520.00 บาท โจทก์ที่ 2 และ 7 คนละ 188,480.00 บาท ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์ที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 คนละ 43,200.00 บาทโจทก์ที่ 2 และ 7 คนละ 6,912.00 บาท และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์ที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 คนละ 216,576.00 บาท โจทก์ที่ 2 และ 7 คนละ 71,424.00 บาท พร้อมให้จำเลย(8)จ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ทั้งเจ็ดในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ของจำนวนต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวนนับตั้งแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด

2. จำเลยให้การว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2550 จริง ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจำเลยประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างมาก โดยได้มีนโยบายเรื่องการโอนย้ายพนักงานขับรถหลายอัตราให้ไปทำงานในบริษัทอื่นในเครือของจำเลย ซึ่งอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจำเลย ได้พยายามเจรจาตกลงกับโจทก์ทั้งเจ็ดในเรื่องการโอนย้าย แต่โจทก์ทั้งเจ็ดและพนักงานคนอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งของจำเลยไม่ประสงค์จะโอนย้าย จำเลยจึงได้มีการตกลงเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยจึงได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงอันถือเป็น(9)สัญญาประนีประนอมยอมความต่อกัน เพื่อยุติข้อพิพาทที่เกิดจากการเลิกจ้างทั้งหมด ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยยินยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ ทั้งเจ็ดได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 โดยโจทก์ทั้งเจ็ดตกลงยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว และไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอีก รายละเอียดปรากฏตามสำเนาบันทึกการเจรจา ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ซึ่งในวันที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์ทั้งเจ็ดพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว นอกจากนี้การที่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตาม(10)กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องเรียกเงินดังกล่าวตามฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้ว ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ที่มีมาก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำสัญญาประนีประนอม ตามข้อ 3 (11)มีข้อความว่า หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้างอีกต่อไป เห็นว่า ข้อตกลงนี้มีผลบังคับย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินประเภทอื่นอันจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (12)บันทึกข้อตกลงทำขึ้นหลังจากที่โจทก์ทั้งเจ็ดพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง12ของจำเลยไปแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึง ไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่จะระงับไปแล้วตามกฎหมายขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้จำเลยรับผิดอีกได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด

4. ศาลฎีกาพิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com