คำพิพากษาที่ 15903/2553

บริษัทขนส่ง จำกัด โจทก์

นางนันทา วงเอี่ยม ที่ 1 กับพวกรวม 5คน จำเลย

เรื่อง 1. ลูกจ้างเป็นพนักงานขับรถ ขับรถโดยประมาท ทำให้นายจ้างเสียหาย การฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เกิน 10 ปี ขาดอายุความหรือไม่

2. กรณีลูกจ้างขับรถโดยประมาท ถึงแก่ความตายและรถของนายจ้างเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องทายาทเข้าร่วมรับผิด ได้หรือไม่ และ ทายาทต้องรับผิดในจำนวนเท่าใด

3. ผู้ค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างจะต้องร่วมกันรับผิดด้วยหรือไม่ และ จำนวนที่รับผิดเท่าไร

4. นายจ้างควรจ้างพนักงานขับรถจากผู้รับเหมาดีไหม

5. นายจ้างควรทำประกันไว้วงเงินเท่าไรดี


1.โจทก์ฟ้องว่า นายประชา เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถยนต์
โดยสารตามที่โจทก์มอบหมาย มีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 เป็นภริยาส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประชา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2546 นายประชาขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ ที่ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเหตุให้ นายเจษฎางค์ถึงแก่ความตาย และในวันที่ 16 เมษายน 2546 นายประชาขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้รถตกถนนที่ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าลากรถยนต์คันเกิดเหตุจากอำเภอท่าชนะไปยังสถานีเดินรถจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,179,729 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้รับผิดชอบไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับมาและให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 50,000 บาท

2.ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์กลับ
สรุปเองว่าเป็นความผิดของนายประชาแล้วจ่ายค่าเสียหายให้แก่ทายาทของนายเจษฎางค์ผู้ตายไปโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 5 ทราบ การกระทำของโจทก์จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 5 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ 1 ปี แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 1,035,729 บาท โดยให้
จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

4.จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5.ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ชดใช้ให้แก่
บุคคลภายนอกแทนลูกจ้างแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากทายาทของลูกจ้างและผู้ค้ำประกันลูกจ้าง มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่วันที่บังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ซึ่งก็คือวันที่โจทก์จ่ายเงินไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

6. ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนค่าลากค่าซ่อมรถยนต์ขาดอายุความแล้ว
หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่านายประชาเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถมีหน้าที่ขับรถตามที่โจทก์มอบหมาย และนายประชาขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาททำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องจ่ายค่าลากและค่าซ่อมรถยนต์ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น

7.ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ว่าโจทก์นำส่งเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 ต่อศาลโดยฝ่าฝืน
ต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าศาลแรงงานกลางเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในประเด็นแห่งคดี อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

8.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com