คำพิพากษาฎีกาที่ 1357/2553

บริษัท โทนี่ เบ็นเนตต์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โจทก์

นางสาวหทัยหรือมณฑา แสนสวัสดิ์ (ลูกจ้าง) ที่ 1

นางนันทา แสนสวัสดิ์ (ผู้ค้ำ) ที่ 2 จำเลย

เรื่อง 1. กรณีลูกจ้างทำให้สินค้าที่อยู่ในความดูแลสูญหายเป็นการละเมิดต่อนายจ้าง หรือผิดสัญญาจ้างทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างใช้สิทธิเลิกจ้าง และเรียกร้องอะไรได้บ้าง

2. ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่

3. การละเมิดต่อนายจ้างในขณะทำงานตามสัญญาจ้างมีกฎหมายเรื่องอายุความมากำหนดหรือไม่ และหากไม่มีจะใช้อายุความตามกฎหมาย อะไรได้บ้าง

4. ระเบียบวิธีการคุมสต็อกมีระเบียบที่ดีอย่างไร

5. สัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรและขีดฆ่าหรือไม่

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขายประจำห้างมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ให้กับประชาชนทั่วไป ในการจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบดูแลสินค้าของโจทก์มิให้สินค้าเสียหายหรือสูญหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิด และผิดสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายร้ายแรงหรือกระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะโดยจงใจ หรือประมาณเลินเล่อ หรือโดยทุจริตต่อโจทก์โดยรับผิด เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,213,327 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 จนกว่าชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 จนกว่าชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

2. จำเลยทั้งสองให้การว่า การเบิกสินค้าของโจทก์มาขายนั้นเป็นหน้าที่ของหัวหน้าพนักงานขาย คือ นางสุพรรณีฯ หรือ นางรัชนีฯ เป็นผู้เบิกสินค้าของโจทก์มาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งยอดสินค้าจะเบิกมาจากโจทก์เท่าใดจำเลยที่ 1 ไม่ทราบ การตรวจเช็คสินค้าคงเหลือโจทก์มีระเบียบปฏิบัติว่าจะตรวจเช็คทุกสามเดือนเมื่อตรวจเช็คแล้วให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ จำเลยที่ 1 ลงลายมือไว้โดยไม่สมัครใจเกิดจากการข่มขู่บังคับของโจทก์ว่าถ้าไม่ลงลายมือชื่อจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเวลาตรวจสอบว่าเอกสารเหล่านั้นชอบหรือไม่ ตัวเลขความสูญเสียหรือเสียหายนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ไม่มีเอกสารสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร คำฟ้องที่เคลือบคลุม ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

3. ศาลแรงงานกลาง พิจารณาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,213,327 บาท แต่จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

4. จำเลยอุทธรณ์ ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี ทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะทำงานตามสัญญาจ้างอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ เมื่อคำฟ้องระบุว่าสินค้าของโจทก์สูญหายไปเมื่อระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความอุทธรณ์

5. สำหรับอุทธรณ์ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์และ พยานจำเลยว่าทุกครั้งที่มีการตรวจนับสต็อกสินค้าดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ร่วมตรวจนับสินค้าอยู่ด้วย และยังได้ลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในการบันทึกการตรวจนับสต็อกสินค้าดังกล่าวด้วยความสมัครใจเอง โดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าสินค้าของโจทก์ที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ขาดหายไปจริงตามบันทึกการตรวจนับสต็อกสินค้าดังกล่าว ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งจึงเป็นการโต้เถียงดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โต้แย้งว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้น ดังนั้นเรื่องสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ โดยไม่ได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์

พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/31)
www.paiboonniti.com