คำพิพากษาฎีกาที่ 15077/2555 

บริษัท ไฮ – เทค  รับเบอร์ โปรดัคส์                             โจทก์  

นางกมลรัตน์  ไชยบุดดี  ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน   จำเลย 

เรื่อง       1.  ลูกจ้างควบคุมเครื่องจักร  แต่ขายอาหารในเวลาทำงาน  ผิดร้ายแรงไหม  

             2.  หากลูกจ้างต้องจ่ายเงินอะไรบ้าง

  1. โจทก์ฟ้องว่า นางสาวระเบียบ  เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำงานหน่วยเพลทการผลิต  หน้าที่ควบคุมเครื่องจักรและขึ้นรูปงานต่างๆ  และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์  เมื่อประมาณวันที่ 9 ถึง 10 มีนาคม 2548  นางสาวระเบียบได้นำขนมกับมาม่ามาวางขายที่หน้าเครื่องและได้ทำการขายที่หน้าเครื่องในเวลาทำงาน  วันที่ 11 มีนาคม 2548  โจทก์ได้เรียกนางสาวระเบียบและพนักงานที่เคยซื้อของมาสอบสวน  พนักงานยอมรับว่าเป็นความจริง  การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดระเบียบของโจทก์กรณีร้ายแรง  โจทก์ได้ลงโทษนางสาวระเบียบโดยการว่ากล่าวตักเตือน  ต่อมาวันที่ 8 ถึง 9 พฤษภาคม 2548  นางสาวระเบียบได้นำกาแฟกับมาม่ามาขายที่หน้าเครื่องที่ทำงานในเวลาทำงานอีก  ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548  โจทก์จึงทำหนังสือปลดนางสาวระเบียบออกจากงาน  ต่อมานางสาวระเบียบได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย  27,000  บาท  และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  2,850  บาท  โจทก์ขอโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นการขายของในเวลาขณะที่ทำงาน  ผิดกฎระเบียบของโจทก์  เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรกับอุปกรณ์ของโจทก์ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการทำงานของโจทก์  และทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานและส่งสินค้า  ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

 2. จำเลยให้การว่า โจทก์เลิกจ้างนางสาวระเบียบ เพราะลูกจ้างนำอาหารเข้ามาจำหน่ายในเวลาปฏิบัติงาน  ลูกจ้างเพียงแต่นำอาหารแห้ง  เช่น  มาม่า  กาแฟซองและขนม  เข้ามาขาย   ลักษณะการขายนั้นจะนั่งประจำเครื่องที่ตนเองควบคุมและวางสินค้าที่จะขายไว้ข้างเครื่องจักรที่ลูกจ้างปฏิบัติงาน เมื่อมีผู้ใดต้องการก็จะเดินมาหยิบสินค้าพร้อมทั้งจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง  ลักษณะการทำงานของลูกจ้างนั้น  จะนั่งทำงานอยู่กับที่มีหน้าที่หยิบชิ้นงานที่อบแล้วออกจากแม่พิมพ์และดูแลเครื่องจักรที่ตนรับผิดชอบ  การที่ลูกจ้างได้นำอาหารเข้ามาขาย  ไม่สิ้นเปลืองเวลา หรือ ทรัพยากรและอุปกรณ์ของนายจ้าง  และไม่มีผลกระทบต่อการทำงานปกติของลูกจ้าง  แม้ว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาแล้วก็ตาม  แต่ไม่มีการตักเตือนเป็นหนังสือคำสั่งของจำเลย  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
 3. ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า  การกระทำของนางสาวระเบียบมิใช่การทุจริตต่อหน้าที่ มิใช่การ    จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อโจทก์เลิกจ้างนางสาวระเบียบโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวระเบียบ แต่กรณีที่นางสาวระเบียบฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์และโจทก์ก็ได้ตักเตือนด้วยวาจาแล้ว นางสาวระเบียบให้สัญญาว่าจะไม่นำสินค้ามาขายอีกแต่ก็ยังคงฝ่าฝืน ถือได้ว่านางสาวระเบียบจงใจขัดคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 583   จึงเลิกจ้างนางสาวระเบียบได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า  พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน เฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน  2,850  บาท  คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

 4. ศาลฎีกาพิพากษายืน

 



รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com