คำพิพากษาฎีกาที่ 3231/2554
บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัดโจทก์
นายจรัส ครชาตรี ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจำเลย

เรื่อง 1. เมื่อระเบียบ กำหนดว่า การแบ่งซื้อแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้ หากฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรง ตามมาตรา 119(4)
2. ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีควรมีเงื่อนไขอย่างไร

1.โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์
จ่ายค่าชดเชย จำนวน 600,000 บาท ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 66,666.66 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 600,000 บาท และค่าจ้างตามสัญญาจ้าง 4,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,266,666.00 บาท แก่นายมาริศ ชาญอุไร คำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างนายมาริศ เข้าทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทำหน้าที่บริหารงานต่างๆมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 นายสิทธิ ประธานกรรมการบริหารของโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายมาริศ เนื่องจากนายมาริศมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 10 และข้อ 16 ต่อมานายมาริศได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างตามสัญญาจ้างและค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 97/2549

2.จำเลยให้การว่า มีคำสั่งที่ 97/2549 โดยจำเลยได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยข้อที่หนึ่งว่า ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบ
เป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้โจทก์ได้บอกเลิกจ้าง เนื่องจากมีเจตนาละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2547 ข้อ 10 และข้อ 16 ถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งนายมาริศรับต่อคณะกรรมการสอบสวน กล่าวคือ (1) อนุมัติใบสั่งซื้อ 29 ใบ มีมูลค่ากว่า 100,000 บาท แต่มิได้สอบราคาตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 (2) มีใบสั่งซื้อ 22 รายการ มีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท (3) การจัดจ้างบริษัท คอร์แอนด์พีค จำกัด โดยไม่ผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 จำเลยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจัดซื้อดังกล่าวหาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 10 ไม่ การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นกรณีหนึ่งกรณีใดตามมาตรา 119 และตามป.พ.พ. มาตรา 583 คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4.ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าการที่นายมาริศแบ่งการจัดซื้อพัสดุเป็นการกระทำเพื่อให้การ
สั่งซื้อในแต่ละใบสั่งซื้อไม่เกิน 100,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 ข้อ 16 กำหนดว่า การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อให้อำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้ ก็เพื่อควบคุมดูแลให้พนักงานของโจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบดังกล่าว ประกอบคำว่า จะกระทำมิได้ มีลักษณะเป็นข้อกำหนดที่เป็นข้อห้ามอย่างชัดแจ้ง ระเบียบข้อดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พนักงานของโจทก์จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเพื่อให้การจัดจ้างของโจทก์มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการแข่งขัน และเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อผิดพลาดทางธุรกิจ หรือเกิดโอกาสทุจริตขึ้นได้ การกระทำของนายมาริศเป็นการฝ่าฝืนระเบียบโจทก์ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2547 และเป็นกรณีที่ร้ายแรง มาตรา 119 วรรคหนึ่ง(4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย และป.พ.พ. มาตรา 583

5.พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 97/2549 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com