คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2561

เรื่อง    1. เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม : นายจ้างยังมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ไม่มีการกำหนดและประกาศวิธีคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างและไม่สามารถอธิบายได้ว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกเลิกจ้างแตกต่างจากพนักงานอื่นที่ไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไร แม้การเลิกจ้างนายจ้างจะจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแล้วก็ตาม ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

1.โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน วันที่ 1 มีนาคม 2549 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง อัตราเงินเดือนสุดท้าย 39,275.64 บาท ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานฝ่ายบัญชี ทำงานที่จังหวัดสงขลา ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าลดกำลังคนและเพื่อบริหารต้นทุนดำเนินการ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานภาค 9เห็นว่า ก่อนจำเลยเลิกจ้าง จำเลยส่งพนักงานไปอบรมสนับสนุนกีฬา ขึ้นเงินเดือนพนักงาน ไม่เคยใช้วิธีลดเงินเดือนจำเลยเบิกความว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ 2,400,000 บาท โดยวิศวกรได้รับเงินเดือนมากที่สุด ชี้ให้เห็นว่าจำเลยยังมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งในแผนกมีเพียง 4 คน และโจทก์มีอายุงานมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการยุบหน่วยงานที่ขาดทุนและเลิกจ้างลูกจ้างในหน่วยงานที่ขาดทุน เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์

2.ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวว่า นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างและกระบวนการพิจารณาที่นายจ้างกระทำก่อนการเลิกจ้างทำไปโดยชอบธรรมหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีรายรับอยู่ มิได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ส่วนกระบวนการที่จะพิจารณาว่าสมควรเลิกจ้างพนักงานคนใดนั้น จำเลยไม่ได้กำหนดและประกาศวิธีคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างและจำเลยไม่สามารถอธิบายได้ว่าโจทก์มีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกเลิกจ้างแตกต่างจากพนักงานอื่นที่ไม่ถูกเลิกจ้างอย่างไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์กระทำผิดหรือมีเหตุสมควรเลิกจ้างเช่นนี้ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร แม้จำเลยจะจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแล้วเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายืน

ฎีกาแรงงาน

Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น

www.paiboonniti.com

Code  96