คำพิพากษาฎีกาที่ 12713/2555

นายชูเกียรติ  ปรัตถจริยา                                    โจทก์ 

บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด                                   จำเลย

เรื่อง   1. ฝ่าฝืนคำสั่งไม่รับชำระค่าสินค้าเป็นเงิน แต่รับเป็นเช็ค แล้วเช็คเด้ง ผิดร้ายแรงไหม
         2. หากฝ่าฝืนคำสั่ง นายจ้างต้องตักเตือนก่อน

 1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7  เมษายน 2530 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ ซี ซี เอ (CCA) ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,290 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2549 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 202,900 บาท และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้าง 20 เดือน เป็นเงิน 405,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

 2.  จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ระหว่างปลายปี 2548 ถึงต้นปี 2549 โจทก์ขายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายนายศักดา  ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหลายครั้ง กล่าวคือ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้ง กล่าวคือ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ลูกค้ารายดังกล่าวโจทก์ต้องรับชำระเป็นเงินสดเท่านั้น แต่โจทก์ฝ่าฝืนยังคงขายและรับชำระค่าสินค้าเป็นเช็คหลายฉบับ จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 631,000 บาท การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ มิได้มีเจตนากลั้นแกล้งจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 631,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
  
 3.  โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า โจทก์รับเช็คจากนายศักดาเพื่อบรรเทาความเสียหายให้จำเลย มิได้กระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงถึงขั้นจะต้องถูกเลิกจ้างและต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

 4.  ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 202,900 บาท และค่าเสียหาย 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

 5.  ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2531 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการ ซี ซี เอ สังกัดหน่วยงานขาย สาขาธนบุรี ค่าจ้างเดือนละ 22,290 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน ประมาณปี 2545 ถึงปี 2546 จำเลยเคยให้นายศักดา  หงส์จ้อย ลูกค้าผู้จัดจำหน่ายสินค้าได้รับสินเชื่อให้ชำระค่าสินค้าได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสินค้าและสามารถชำระค่าสินค้าเป็นเช็คได้ ต่อมานายศักดาสั่งจ่ายเช็คและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คมากกว่า 2 ฉบับ ซึ่งตามนโยบายการบริหารของจำเลย เมื่อมีกรณีเช่นนี้ก็จะไม่รับเช็คจากลูกค้ารายดังกล่าวอีกคงให้รับเงินสดเท่านั้นต่อมานายสมชาย  ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทำสัญญากับนายศักดา โดยกำหนดให้นายศักดาชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดเท่านั้น โจทก์ทราบและลงลายชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าว หลังจากทำสัญญาแล้วในการซื้อสินค้า ต่อมานายศักดาจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินสดจนกระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2548 โจทก์เก็บเงินค่าสินค้าจากนายศักดา นายศักดาจ่ายเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้โจทก์รับมา แต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2549 และยังเรียกเก็บเงินไม่ได้อีก 2 ฉบับ ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2549 นายศักดาชำระค่าสินค้าเป็นเช็คให้โจทก์อีก 2 ฉบับ และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นกัน ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จึงทำสัญญากับนายศักดา โจทก์ย่อมทราบว่าลูกค้ารายนายศักดาไม่สามารถชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค แต่ต้องชำระเป็นเงินสดเท่านั้น แม้ตามสัญญาข้อ 9 จะระบุให้นายศักดาสามารถชำระค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่จำเลยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับผลิตภัณฑ์แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน แล้วโจทก์ก็จะต้องรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.8 จะเห็นว่า โจทก์ส่งผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 1 ให้นายศักดาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เป็นค่าผลิตภัณฑ์ 10,471 บาท นายศักดาต้องชำระค่าผลิตภัณฑ์ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 แม้ในระหว่าง 15 วันดังกล่าวโจทก์จะส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาอีกหลายครั้ง แต่เมื่อครบกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม 2548 นายศักดาไม่ชำระค่าผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 1 เป็นเงินสด โจทก์ก็ควรจะระงับการส่งผลิตภัณฑ์อื่นให้แก่นายศักดาอีกจนกว่าจะได้รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ลำดับที่ 1 ครบถ้วนเสียก่อน แต่ปรากฏจากเอกสาร ล.8 ว่าหลังจากวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โจทก์ยังคงส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาอีกหลายครั้ง กระทั่งมีการตรวจสอบยอดหนี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ยังคงส่งผลิตภัณฑ์ให้นายศักดาอีกทั้งที่ยังไม่ได้รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากนายศักดา ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระค่าผลิตภัณฑ์มีจำนวนมากขึ้น นายศักดาจึงขอชำระด้วยเช็คจำนวน 4 ฉบับ โจทก์รับชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเช็คซึ่งเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เพียงบางฉบับ หลังจากนั้นขณะที่เรียกเก็บเงินตามเช็คยังได้รับเงินไม่ครบถ้วน โจทก์ยังคงส่งสินค้าให้นายศักดาอีกหลายครั้ง ทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 631,000 บาท นายศักดาไม่สามารถชำระเป็นเงินสดได้จึงขอชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเช็คสำหรับสินค้าใหม่ โจทก์ยังคงรับเช็คเป็นการชำระค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้อีกเช่นกัน ดังนี้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยไม่ใส่ใจรักษาผลประโยชน์ของนายจ้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการบริหารของจำเลยการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์พยายามติดตามทวงถามให้นายศักดาชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเงินสดเมื่อครบกำหนดชำระแล้ว แต่นายศักดาไม่มีเงินสดชำระ โจทก์จึงยอมรับเช็คไว้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการคดีอาญาเพื่อบังคับให้นายศักดานำเงินสดมาชำระ และการที่โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อนายศักดานั้น ก็เป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์เท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายสมชาย หลังจากที่นายศักดามีปัญหาในการชำระค่าผลิตภัณฑ์แล้วนายสมชายยังคงไม่ระงับการให้เวลาชำระราคาดังกล่าวหรือระงับการส่งสินค้าให้นายศักดา แต่ยังคงให้โจทก์ส่งสินค้าให้นายศักดาต่อไปทั้งโจทก์ใช้ความพยายามติดตามทวงถามให้นายศักดาชำระค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเงินสดแล้วแต่ลูกค้าไม่สามารถหาเงินสดมาชำระได้ โจทก์จำต้องยอมรับเช็คแทนเงินสด ดังนี้ การกระทำของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำภายใต้ความยินยอมของผู้บังคับบัญชาของโจทก์ และเหตุที่ต้องรับเช็คแทนเงินสดเพราะลูกค้าไม่มีให้ หาใช่โจทก์มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยไม่ จึงไม่อาจถือว่าการกระทำของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว แต่การกระทำของโจทก์ที่ยังคงปล่อยให้มีการนำส่งผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้ารายนายศักดาโดยไม่เรียกเก็บค่าผลิตภัณฑ์เป็นเงินสดจำนวนหลายครั้ง ทั้งที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ค่าผลิตภัณฑ์แล้ว จนกระทั่งนายศักดามีหนี้ค่าผลิตภัณฑ์ค้างชำระจำนวนมาก การกระทำของโจทก์เช่นว่านี้เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจไว้วางใจให้ทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
  พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง



รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
Code : 55