ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย บิดาจริงแต่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ

คำพิพากษาฎีกาที่ 774/2553

นายประสิทธิ์ เหรียญประชา โจทก์

สำนักงานประกันสังคม จำเลย

เรื่อง ผู้ ประกันตนถึงแก่ความตาย และส่งสมทบกรณีชราภาพมาต่อเนื่อง 50 เดือน บิดาจริงแต่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ

1. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนายสุรัตน์ เหรียญประชา นายสุรัตน์เป็นลูกจ้างของบริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล สาขา 1 จำกัด ส่งเงินสมทบกรณี
ชราภาพแล้วเป็นเวลา 50 เดือน นายสุรัตน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครปฐม
ขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม มีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรัตน์ ไม่มีสิทธิได้รับเงิน
บำเหน็จชราภาพ

2. โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 138/2548 ลงวันที่ 28 มกราคม 2548 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ด้วยเหตุเดียวกัน โจทก์ฟ้องขอให้
เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ และให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จชราภาพ) ของนายสุรัตน์

3. จำเลยให้การว่า มารดาของนายสุรัตน์ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์เป็นบิดาของนายสุรัตน์ แต่โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของนายสุรัตน์
ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่านายสุรัตน์เป็นบุตร โจทก์จึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม
และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

4. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ทายาทผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ ความตาย ตามพระราช
บัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวาวรรคสอง (3) คือบิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่ได้ให้คำจำกัดความ บิดามารดา
ว่ามีความหมายอย่างไร หากต้องการความหมายของ บิดามารดา ในมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) มาตรา 77 จัตวา ไม่ได้ให้คำจำกัดความ
คำว่าทายาท คำว่า ทายาท ตามมาตรา 77 จัตวา จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ดังนั้นคำว่า
ทายาท ตามมาตรา 77 จัตวา จึงหมายถึงผู้รับในกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ประกอบกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมาย
ที่ออกบังคับใช้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในสังคมเป็นส่วน ใหญ่ และลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักเกิดในครอบครัวที่บิดามารดาอยู่กิน
ฉันสามีภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้นเจตนารมณ์ของมาตรา 77 จัตวา วรรสสอง (3) คำว่า บิดามารดา จึงหมายถึงบิดามารดาที่ชอบด้วย
กฎหมายและรวมถึงบิดามารดาตามความเป็นจริง โจทก์จึงมีสิทธิ ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตายตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง(3) พิพากษา
ให้เพิกถอนคำสั่ง ให้จำเลย จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตายแก่โจทก์

5. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของนายสุรัตน์ เหรียญประชา ตามความเป็นจริงแต่ไม่ใช่บิดา
โดยชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่า บิดา และคำว่า ทายาท
ว่ามีความหมายอย่างใด ในมาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้ชัดเจน โดยบัญญัติว่า ทายาท ของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทายาท ผู้มีสิทธิ
ตามวรรคหนึ่งได้แก่ (1) (2) (3) … เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า บุคคล กับ ทายาท แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้มี
ความหมายแตกต่างกัน และคำว่า ทายาท ซึ่งเป็นถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงต้องแปลความหมาย โดยเทียบเคียงกับคำว่า ทายาท
ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ซึ่งบทบัญญัติถึงคำว่า ทายาท อยู่ในมาตรา
1559, 1603 และ 1629 โดยคำว่า ทายาท ในบทบัญญัติดังกล่าวนี้หมายถึงเฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดัง นั้น คำว่า ทายาท
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 77 จัตวา จึงต้องหมายถึง ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และเมื่อโจทก์เป็นบิดาตามความเป็นจริงแต่มิใช่
เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/31)
www.paiboonniti.com