คำพิพากษาฎีกาที่ 15904/2553

บริษัทการบินไทย จำกัดโจทก์

นางสาวจุฑารัตน์ ณ สงขลา ที่ 1
นายโกวิท โชติรส โดยนายวีรวัฒน์ โชติรส
ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ที่ 2จำเลย

เรื่อง(1) ผู้ค้ำประกัน ค้ำประกันลูกจ้างตำแหน่งหนึ่ง แต่ลูกจ้างย้ายไปทำงานอีกตำแหน่งหนึ่ง ย่อมพ้นความรับผิดไหม
(2) อ้าง ป.พ.พ. มาตรา 223 และมาตรา 680 ดูประกอบ
(3) หากจะย้ายหน้าที่ลูกจ้าง ควรเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันทุกครั้ง

1.โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จำเลยที่ 2 จะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยที่1 มีหน้าที่จัดทำคำสั่งออกบัตรโดยสารลดราคาพิเศษตามที่มีคำขอผ่านผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ ส่งให้แผนกขายบัตรโดยสารออกบัตรโดยสารให้ ผู้โดยสารจะรับบัตรโดยสารที่แผนกขายบัตรหรือที่จำเลยที่ 1 ก็ได้ ในกรณีที่ผู้โดยสารรับบัตรโดยสารจากจำเลยที่ 1 พร้อมชำระเงินค่าบัตรโดยสาร จำเลยที่ 1 จะนำเงินดังกล่าวส่งให้ฝ่ายบัญชีโจทก์ต่อไป ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ถึงเดือนมิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคำสั่งออกบัตรโดยสารลดราคาพิเศษให้แผนกออกบัตรโดยสารเพื่อออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารรวม 87 ครั้ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินค่าบัตรโดยสารทั้งหมดไว้ในนามโจทก์ และได้เบียดบังค่าบัตรโดยสารจำนวน 9,794,030 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 จากการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษทางวินัย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้เบียดบังค่าบัตรโดยสารจำนวนเงิน 9,794,030 บาท จริงโจทก์จึงมีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานและให้จำเลยที่ 1 คืนเงินโจทก์ได้ติดต่อทวงถามจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

2.จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่จัดทำคำสั่งออกบัตรโดยสารลดราคาพิเศษ ไม่มีหน้าที่รับเงินค่าบัตรโดยสารจากผู้ซื้อบัตรโดยสาร แม้ผู้โดยสารฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้นำไปจ่ายโจทก์ เงินดังกล่าวยังไม่ใช่เงินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป ขอให้ยกฟ้อง

3.จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเข้าทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น (PASSENGER SERVICE) ไม่ได้ค้ำประกันเข้าทำงานในตำแหน่งเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

4.ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายวีรวัฒน์ โชติรส ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน

5. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่ปี 2519 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น (PASSENGER SERVICE) โดยมีจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2530 ได้มีคำสั่งย้ายจำเลยที่ 1 จากเลขานุการสังกัดสำนักงานภาคพื้นประเทศไทยไปเป็นเลขานุการรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด ต่อมารองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์จำเลยที่ 1 จึงเป็นเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติบัตรโดยสารเครื่องบินราคาพิเศษ ผู้ขอบัตรโดยสารพิเศษจะทำหนังสือขออนุมัติผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์อนุมิติแล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งคำสั่งอนุมัติไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อพิมพ์คำสั่งออกบัตรโดยสารราคาพิเศษไปยังแผนกออกบัตรหลังจากออกบัตรโดยสาร ผู้โดยสารจะไปรับบัตรโดยสารและชำระราคาที่แผนกออกบัตรโดยสาร แต่ในทางปฏิบัติผู้โดยสารที่ขอบัตรราคาพิเศษนี้ส่วนมากเป็นผู้มีตำแหน่งสูง เพื่ออำนวยความสะดวก จำเลยที่ 1 จะรับบัตรโดยสารจากแผนกออกบัตรโดยสารมาก่อน แล้วให้ผู้โดยสารมารับบัตรและชำระราคาที่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จึงนำเงินไปส่งให้แผนกออกบัตรโดยสารเพื่อส่งมอบให้ฝ่ายการเงินต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้นับว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ เพราะเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ไม่มีอำนาจหน้าที่รับชำระค่าบัตรโดยสาร แต่ก็ได้ปฏิบัติเช่นว่านี้เรื่อยมาไม่เคยมีปัญหา ต่อมาปรากฏว่าฝ่ายการเงินและบัญชีตรวจสอบพบว่าฝ่ายการพาณิชย์มีหนี้ค่าโดยสารค้างชำระเป็นจำนวนมาก ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้รับเงินค่าบัตรโดยสารจากผู้โดยสารที่ขอบัตรโดยสารราคาพิเศษ เป็นจำนวน 9,848,125.41 บาท ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานและให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 9,848,125.41 บาท โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกและออกหมายจับ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน คงค้างเป็นเงิน 9,794,030 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 แม้การรับเงินเป็นเรื่องกระทำนอกหน้าที่แต่ก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น ไม่ได้ค้ำประกัน ตำแหน่งเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งออกบัตรโดยสารหรือรับชำระเงินค่าบัตรโดยสาร การที่ฝ่ายบริหารของโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรวมตลอดทั้งรับชำระค่าบัตรโดยสารแทนโจทก์และปล่อยให้ติดค้างเป็นจำนวนเงินถึงเกือบสิบล้านบาท ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนี้เป็นความละเลยบกพร่องและประมาทเลินเล่อของฝ่ายบริหารจัดการของโจทก์จนเป็นโอกาสให้เกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 แม้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ก็เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ผู้ยักยอก และไม่ได้มีส่วนที่ผิดที่ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 กระทำการเกินอำนาจและนอกหน้าที่ จนมีโอกาสเบียดบังเอาเงินไป หากฝ่ายบริหารมิได้บกพร่องความเสียหายคงไม่เกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ประกอบมาตรา 680 เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,784,030 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

6.ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นการกระทำนอกหน้าที่ แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานจึงต้องรับผิดด้วย เห็นว่า ตามหนังสือค้ำประกันจะต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะทำงานตำแหน่ง PASSENGER SERVICE หรือเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้นตามที่จำเลยที่ 2 ระบุในหนังสือค้ำประกัน การที่โจทก์ย้ายตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ไปทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถกระทำการทั้งในหน้าที่ตามระเบียบและฝ่าฝืนระเบียบอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกัน การกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำในขณะทำงานตำแหน่ง PASSENGER SERVICE หรือเจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น แต่ได้กระทำในขณะทำงานตำแหน่งเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

7.พิพากษายืน.

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/45)

www.paiboonniti.com