คำพิพากษาฎีกาที่ 5323/2554

นายวีรชน สิงห์น้อย โจทก์

บริษัท ไอ บี เอ็ม ประเทศไทย จำกัด ที่ 1
นางสาวศุภจี สุธรรมพันธ์ ที่ 2
นายมาร์ค อีสตัน ที่ 3 จำเลย

เรื่อง 1. ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและลดบุคลากร แต่ข้อเท็จจริงมีการจ้างพนักงานอื่นมาทำแทนโจทก์ มีเหตุสมควรเพียงพอเลิกจ้างโจทก์หรือไม่
2. เป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมไหม
3. ทำหนังสือสละสิทธิไม่เรียกร้องใดๆ อีก จะฟ้องอีกได้ไหม

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบริการที่ปรึกษา เป็นผู้บังคับบัญชา โจทก์ทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็น ASSOCIATE PARTNER มีหน้าที่ให้คำปรึกษาธุรกิจการเงินการธนาคาร ดูแลการขายและงานบริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ลูกค้าและเป็นผู้นำบริหารโครงการต่าง ๆ ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 224,490 บาท ค่าพาหนะ เดือนละ 76,500 บาท ค่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เดือนละ 1,500 บาท รวมค่าจ้างเดือนละ 302,490 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 จำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2548 โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 75,000,000 บาท และการเลิกจ้างเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขายหุ้นภายในระยะเวลา 3 เดือน โจทก์เสียหายเป็นเงิน 38,000,000 บาท ได้ตั้งเงื่อนไขว่าหากโจทก์ลาออกต้องไปทำงานอยู่บริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 ต้องสละเงินทุกประเภทรวมทั้งหุ้นด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ยินยอมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 113,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ไม่ได้บังคับโจทก์ขายหุ้น ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาผลประกอบการของฝ่ายบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจของจำเลยที่ 1 ลดลงมาก ไม่สามารถบรรลุเป้าที่วางไว้ ช่วงต้นปี 2548 จำเลยได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและบุคลากร ลดบุคลากร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้อยู่รอด จำเลยที่ 1 จะพิจารณาย้ายพนักงานที่มีผลกระทบจากการปรับปรุงไปยังหน่วยงานอื่น โจทก์ทราบแต่ไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 1 ได้นัดโจทก์และพนักงานที่มีผลกระทบในวันที่ 14 มิถุนายน 2548 พนักงานมาพบแต่โจทก์ไม่มา จึงไม่สามารถเสนอโอนย้ายโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชย เงินอื่น ๆ ให้แก่โจทก์รับไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 4,459,349.48 เงินตอบแทนพิเศษ เป็นเงิน 897,960 บาท โจทก์ตกลงและรับรองว่าได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ ไม่ได้บังคับให้โจทก์ขายหุ้น ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3,932,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง

4. ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ลดพนักงานด้วยการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนที่จะมีการรวมพนักงานของบริษัท ไพร์ส วอเตอร์เฮาส์ จำกัด โจทก์มิใช่พนักงานส่วนเกินที่เป็นเหตุให้แผนกบีซีเอสขาดทุน ในการเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้จ้างนางสาวสุทธิรา ธัญญาวานิช ทำหน้าที่ขายโครงการและบริหารบุคคลแทนโจทก์ และจ้างนางอรุณี สนธิมาศ ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรให้แก่บุคลากรแทนโจทก์ ถือได้ว่าตำแหน่งของโจทก์ยังมีความจำเป็นอยู่เพราะต้องมีคนมาทำแทนโจทก์ การโอนไปทำงานกับบริษัท ไอ บี เอ็ม โซลูชั่น ดีลิเวอร์รี่ จำกัด บริษัทในเครือจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์คงรับเงินเดือนเท่าเดิม นับอายุงานต่อเนื่องโดยไม่ได้รับค่าโทรศัพท์และค่ารถที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 ในกรณีโจทก์ยอมโอนไปทำงานกับบริษัท ไอ บี เอ็ม โซลูชั่น ดีลิเวอร์รี่ จำกัด โจทก์ต้องขายหุ้นด้วย การที่โจทก์ไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ไปประชุมตามที่จำเลยที่ 1 ได้นัดไว้ ถือว่ามีสาเหตุสมควรเพราะโจทก์ได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทราบเงื่อนไขของบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มิได้ตกลงยินยอมสละสิทธิในการฟ้องจำเลยที่ 1

5. คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า เหตุดังกล่าวแม้จะมีอยู่จริงแต่ปัญหาการขาดทุนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เกิดเพราะสภาพทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุของการขาดทุนอีกประการหนึ่งเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ซื้อกิจการ บริษัท ไพร์ส วอเตอร์เฮาส์ จำกัด พนักงานของบริษัทดังกล่าวรวมเข้าด้วยกับบริษัท แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในปีต่อ ๆ ไปจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้จะนำผลการขาดทุนในปี 2547 และปี 2548 อย่างเดียวมาวินิจฉัยถึงความจำเป็นต้องปรับลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานจนเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ ทั้งการเสนอให้โจทก์ไปทำงานกับบริษัทในเครือก็เป็นการแสดงเจตนาที่จะเลิกจ้างอย่างหนึ่ง ประกอบกับหลังเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังให้พนักงานอื่นมาทำหน้าที่แทนโจทก์ จึงยังไม่มีเหตุผลจำเป็นและสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

6. พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com