คำพิพากษาฎีกาที่ 13802-13803/2555                               

นายอดิศักดิ์  เอี่ยมนพคุณ            
พลฯ อดิศร  เอี่ยมนพคุณ                       โจทก์ 

สำนักงานประกันสังคม                          จำเลย

เรื่อง   1. บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส เมื่อบิดาตาย บุตรจะขอรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ไหม
        2. บุตรจะต้องฟ้องให้ศาลเยาวชนรับรองบุตรเรียกก่อน จึงมีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ

1.  โจทก์ทั้งสองฟ้อง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของนายเจริญชัย เอี่ยมนพคุณ ผู้ประกันตนและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2548 ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องเพื่อให้มีคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จชราภาพ) ให้แก่โจทก์ทั้งสอง สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนตาย เนื่องจากไม่ใช่ทายาทตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยที่ 1660/2548 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และมีมติอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย เนื่องจากโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนได้รับรองต่อบุคคลทั่วไปว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของผู้ประกันตนด้วยการเลี้ยงดู ให้การศึกษา และแสดงออกต่อบุคคลทั่วไป ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพ ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 และมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมาย

 2.  จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1660/2548 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
  
 3.  ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1660/2548 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 และมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จชราภาพ) ตามกฎหมาย

4.  ศาลฎีกา ฟังข้อเท็จจริงว่า นายเจริญชัย เอี่ยมนพคุณ ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 ทวิ วรรคสองถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ก่อนที่จะไดรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ประกันตนได้รับรองแล้วได้ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 มีคำสั่งลงวันที่ 18 ตุลาคม 2548 ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตาย เนื่องจากไม่ใช่ทายาทตามกฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยที่ 1660/2548 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางคำสั่งเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ได้บัญญัติให้ทายาทผู้เป็นบุตรที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพนั้นต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็มิได้บัญญัติเจาะจงว่าจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ยื่นคำร้องหรือในขณะที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย เมื่อในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์นั้นโจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นศาลว่าต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนและคำสั่งถึงที่สุดแล้ว แม้สถานภาพของการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะมีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 (กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ) กรณีก็เป็นเรื่องบทบัญญัติทั่วๆ ไปซึ่งยังมีข้อยกเว้นในเรื่องการรับมรดกของบุตรนอกสมรสในมาตรา 1558 ว่า ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่บิดาถึงแก่ความตายด้วย ทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ด้วยโอกาสในสังคมในกรณีที่มีปัญหาต้องตีความบทบัญญัติในกฎหมายในส่วนดังกล่าว จึงต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ไม่สร้างปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติ เมื่อโจทก์ทั้งสองมีสถานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนข้อเท็จจริงที่รับฟังในชั้นพิจารณาของจำเลยและคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยจึงยังไม่ครบถ้วน กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคระกรรมการอุทธรณ์ในคดีนั้น เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรับเงิน
บำเหน็จชราภาพกรณีตายของผู้ประกันตนในคดีนี้ แต่โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพใหม่อีกครั้ง

การพิพากษา ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องใหม่



รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
Code : 55