คำพิพากษาฎีกาที่ 7777-7796/2553

นางสาวกุลวลัย เศรษฐาภรณ์ ที่ 1 กับพวกรวม 20 คน โจทก์

บริษัทการบินบริติชแอร์เวย์ พีแอลซี จำเลย

เรื่อง 1. นายจ้างจำเป็นต้องย้ายสถานประกอบการ มีวิธีการให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร

2. นายจ้างบอกเลิกจ้างตามมาตรา 120 แล้ว เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่

3. นายจ้างคาดเดาว่าลูกจ้างไม่ย้ายจึงเลิกจ้างผลจะเป็นอย่างไร

1. โจทก์ทั้งยี่สิบสำนวนฟ้อง เป็นลูกจ้างจำเลย โดยปฏิบัติงานที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) กลุ่มแรกทำงานในแผนกการบริการลูกค้าประกอบด้วยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 14 กลุ่มที่สอง ประกอบด้วยโจทก์ที่เหลือทำงานในแผนกวิศวกร ตำแหน่งช่างเครื่องบิน เมื่อวันที่ 16 และวันที่ 24 สิงหาคม 2549 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบและพนักงานอื่น โดยระบุเหตุว่าจำเลยว่าจ้างบริษัท เอส เอ เซอร์วิสเซส จำกัด จำเลยมีแผนที่จะให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปสมัครเข้าทำงานกับบริษัทดังกล่าว จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุน การเลิกจ้างของจำเลย โดยไม่มีเหตุผลสมควรและไม่เป็นธรรม จึงขอเรียกค่าเสียหายจากฐานเงินทั้งหมดที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคน หรือรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และให้จ่ายเงินเดือนพร้อมผลประโยชน์อื่นย้อนหลังตั้งแต่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์แต่ละคนกลับเข้าทำงาน

2. จำเลยให้การ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ ประกอบธุรกิจการบิน รวมถึงขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์ มีสาขาหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งสาขาในประเทศ จำเลยและบริษัทแควนตัสแอร์เวย์ จำกัด ตกลงทำสัญญาให้บริการร่วมกัน จำเลยมีเครื่องบิน 2 ลำ เดินทางเข้าออกในประเทศ วันละ 2 เที่ยวบิน สำนักงานของจำเลยในประเทศไทย แผนกให้บริการลูกค้าและแผนกวิศวกรตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพหรือท่าอากาศยาน ดอนเมือง วันที่ 28 กันยายน 2549 ประเทศไทยย้ายท่าอากาศยานนานาชาติจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันเป็นผลให้สำนักงานให้บริการลูกค้าและแผนกวิศวกรของจำเลยต้องย้ายไปอยู่ที่ท่าอากาศยานแห่งใหม่ด้วย จำเลยได้ศึกษาปัญหาและได้ข้อสรุปว่าจำเลยและบริษัทแควนตัสแอร์เวย์ จำกัด จะยุบเลิกสำนักงานให้บริการลูกค้าและจำเลยจะยุบเลิกแผนกวิศวกรทั้งหมด จำเลยช่วยเหลือพนักงานที่ ถูกเลิกจ้างรวมทั้งโจทก์ทุกคน โดย(1)การจ่ายค่าชดเชยและ(2)สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ครบถ้วน และจ่าย(3)เงินค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์ จำเลยทำสัญญากับบริษัท เอส เอ เซอร์วิส จำกัด และบริษัทคาเธ่ย์ แปซิฟิค จำกัด ให้จัดหาพนักงานเข้าทำงานให้แก่จำเลยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอันเป็นการแก้ปัญหาความเสี่ยงในการไม่มีพนักงานมาทำงาน การเลิกจ้างของจำเลยไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผล หกประการด้วยกัน 1. เป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาจ้าง 2. จ่ายเงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าว และค่าชดเชยพิเศษ 3. เลิกจ้างทุกคนอันเป็นการยุบแผนกเพราะมีการปิดสนามบิน 4. แม้ไม่เลิกจ้างโจทก์ทุกคนก็บอกเลิกจ้างได้ในขณะที่ไปทำงานที่สุวรรณภูมิอันทำให้เกิดความเสียหาย จึงต้องจ้างบริษัทภายนอกทำงาน 5. หากรอโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างก็จ่ายเพียงกึ่งหนึ่งของค่าชดเชย 6. โจทก์ทุกคนมีโอกาสสมัครเข้าทำงานที่บริษัท เอส เอ เซอร์วิสเซส ได้แต่โจทก์ไม่ไปสมัครงานเอง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4. โจทก์ทั้งยี่สิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วที่ศาลแรงงานกลาง ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้จัดการสอบถามความสมัครใจของพนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งยี่สิบว่าต้องการไปทำงานกับจำเลยที่สำนักงานของจำเลยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อนการเลิกจ้าง ภายหลังเมื่อมีการย้ายท่าอากาศยานแห่งใหม่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตซ่อมเครื่องบิน จำเลยตัดสินใจยุบเลิกสำนักงานให้บริการลูกค้าและแผนกวิศวกรทั้งหมด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเนื่องจากได้ยุบเลิกแผนกให้บริการลูกค้าและวิศวกรมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งยี่สิบอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบนั้น จำเลยมิได้ประสบภาวะขาดทุนและไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายให้บริการลูกค้า โดยมิได้สอบถามความสมัครใจของโจทก์ดังกล่าวก่อนว่าจะไปทำงานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือไม่ แต่คาดเดาเอาเองว่า โจทก์ดังกล่าวจะไม่ตามไปทำงานด้วย แล้วจ้างพนักงานจากบริษัทภายนอกเข้าทำงาน จึงไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงพอ ส่วนโจทก์ที่ 4 และที่ 15 ถึงที่ 20 เป็นช่างเครื่อง การที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจสอบและซ่อมแซมเครื่องบินเกิดจากความผิดของจำเลยที่ไม่ยื่น คำขอใบอนุญาต เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 4 และที่ 15 ถึงที่ 20 จึงไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้างเพียงพอเช่นกัน ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่การจะสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งยี่สิบเข้าทำงานต่อไปหรือกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้เป็นดุลพินิจซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาตรา 49 รวมทั้งค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ประกอบการพิจารณา ซึ่งศาลฎีกาไม่อาจกำหนดได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

5. พิพากษากลับและให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาสมควรรับโจทก์ทั้งยี่สิบเข้าทำงานหรือกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบแล้ว

6. พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com