ทำสัญญามีกำหนดระยะเวลาแน่นอน 4 ฉบับ แต่ลูกจ้างปฎิเสธการต่อสัญญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 18970 – 18973/2555

นายณรงค์ปกรณ์  อินไชยย์ทอง ที่  1  กับพวกรวม  4  คน     โจทก์

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย     จำเลย

 

 

 

เรื่อง 1.  ทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนมาแล้ว  4  ฉบับ  เมื่อฉบับสุดท้ายครบกำหนด  

    สัญญานายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป  แต่ลูกจ้างปฏิเสธผลคดี จะต้องจ่ายค่าชดเชยไหม

2.  สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอน  ต้องมีลักษณะอย่างไร

3.  เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วต้องต่อสัญญาช่วงเวลาใด

 

1.โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า     โจทก์ทั้งสี่ทำงานกับจำเลยมาครบ  1  ปี  แต่ไม่ครบ  3  ปี  มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคนละ  90  วัน  โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีคนละ  6  วันทำงาน                           คิดเป็นเงินคนละ  3,000  บาท  เมื่อจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย  โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ  15  ต่อปี  และเงินเพิ่มร้อยละ  15  ของเงินค่าจ้างทุกระยะเจ็ดวัน  ขอให้บังคับจำเลยจ่าย

2.จำเลยให้การว่า     ทำสัญญาจ้างโจทก์ที่  1  รวม  4  ฉบับ  โจทก์ที่  1  มีอายุงานรวม  2  ปี  3  เดือน  29  วัน  จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่  2  รวม  6  ฉบับ  โจทก์ที่  2  มีอายุงานรวม  2  ปี  11  เดือน    28  วัน  จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่  3  รวม  6  ฉบับ  โจทก์ที่  3  มีอายุงานรวม  2  ปี  11  เดือน  28  วัน  และจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่  4  รวม  5  ฉบับ  โจทก์ที่  4  มีอายุงานรวม  2  ปี  2  เดือน  17  วัน   เมื่อสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยจะครบกำหนด  จำเลยประสงค์ให้โจทก์ทั้งสี่ทำงานกับจำเลยต่อไป  แต่โจทก์ทั้งสี่ปฏิเสธ  ดังนั้นจำเลยจึงไม่ได้เลิกจ้างโจทก์  จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสี่  ขอให้ยกฟ้อง

3.ระหว่างพิจารณาจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว  

4.ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า     จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชกำหนด           บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย  พ.ศ. 2544  มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์  ปรับปรุงโครงสร้างหนี้  ปรับโครงสร้างกิจการ  โจทก์ที่  1  เริ่มทำงานกับจำเลยในตำแหน่งนิติกรตามสัญญาจ้าง  4  ฉบับ  ฉบับแรกเริ่มวันที่  3  กันยายน  2550  ถึง วันที่  31  ธันวาคม  2550  ฉบับที่  2  เริ่มวันที่  1  มกราคม  2551  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2551  ฉบับที่  3  เริ่มวันที่  1  มกราคม  2552  ถึงวันที่  30  มิถุนายน  2552  และฉบับที่  4  เริ่มวันที่  1  กรกฎาคม  2552  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2552  โจทก์ที่  2  และโจทก์ที่  3  ทำสัญญาจ้างกับจำเลยคนละ  6  ฉบับ  ฉบับแรกเริ่ม       วันที่  3  มกราคม  2550  ถึงวันที่  30  มิถุนายน  2550  ฉบับที่  2  เริ่มวันที่  1  กรกฎาคม  2550  ถึง    วันที่  30  ธันวาคม  2550  ฉบับที่  3  เริ่มวันที่  1  มกราคม  2551  ถึงวันที่  30  มิถุนายน  2551                 ฉบับที่  4  เริ่มวันที่  1  กรกฎาคม  2551  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2551  ฉบับที่  5  เริ่มวันที่  1  มกราคม  2552  ถึงวันที่  30  มิถุนายน  2552  และฉบับที่  6  เริ่มวันที่  1  กรกฎาคม  2552  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2552  และโจทก์ที่  4  ทำสัญญาจ้างกับจำเลย  3  ฉบับ  ฉบับแรกเริ่มวันที่  15  ตุลาคม  2550  ถึงวันที่  14  ตุลาคม  2551  ฉบับที่  2  เริ่มวันที่  16  ตุลาคม  2551  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2551  ฉบับที่  3  เริ่มวันที่  1  มกราคม  2552  ถึงวันที่  30  มิถุนายน  2552  ฉบับที่  4  เริ่มวันที่  1  กรกฎาคม  2552  ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2552                      ต่อมาวันที่  20  พฤศจิกายน  2552  จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการต่ออายุสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสี่  แต่โจทก์ทั้งสี่  ไม่ประสงค์ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลย  ตามสำเนาหนังสือแจ้งการต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย  ล.1  ถึง  ล.4  จำเลยได้เรียกให้พนักงานที่ไม่ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยเข้าประชุมเมื่อวันที่  18  ธันวาคม  2552  ตามสำเนารายชื่อพนักงานสัญญาจ้าง  เอกสารหมาย  ล.5  แล้ววินิจฉัยว่า  จำเลยเป็นกิจการที่แสวงหากำไร  ทางเศรษฐกิจ และอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยจะสิ้นสุดในวันที่  31  ธันวาคม  2552  จำเลยได้มีหนังสือ       แจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลย  ต่อมาเมื่อจำเลยเรียกพนักงานที่ไม่ต้องการต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยเข้าประชุม  โจทก์ทั้งสี่ยังคงยืนยันไม่ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยเช่นเดิม  แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างยังคงมีงานให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างทำ  และยังคงต้องการให้โจทก์ทั้งสี่ทำงานกับจำเลยต่อไป   แต่โจทก์ทั้งสี่กลับเป็นฝ่ายปฏิเสธ   และแสดงความประสงค์ต่อจำเลยว่าโจทก์ทั้งสี่จะไม่ทำงานให้จำเลยอีกต่อไปเมื่อครบอายุสัญญาจ้างแล้ว   จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังได้ว่า  จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ไม่   เมื่อจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่  จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่               แล้วพิพากษายกฟ้อง

5.ศาลฎีกาเห็นว่า     พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541  มาตรา  118  วรรคสอง  บัญญัติให้การเลิกจ้างหมายความว่า  การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้   ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด  และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป  เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า    ก่อนสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยจะสิ้นสุด  จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ต่ออายุสัญญาจ้าง  แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์ต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลย  จึงฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ไม่

 

พิพากษายืน  

 



 

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น 

www.paiboonniti.com

Code  :   62