คำพิพากษาฎีกาที่ 5558/2554

นายพรสวรรค์ แพงพุย โจทก์

บริษัท อลิซาเบธอาเขต จำกัด จำเลย

เรื่อง 1.ดื่มสุราในห้องควบคุมเครื่องไฟฟ้า มีถังแก๊ส พร้อมทั้งสูบบุหรี่ และยกสายโทรศัพท์ออกเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับที่ร้ายแรงไหม
2.นายจ้างมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ไหม
3.ภาระการพิสูจน์ของนายจ้างแต่ไม่มีพยานผลจะเป็นอย่างไร

1.โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายโจทก์ทำหน้าที่รองหัวหน้าช่าง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายโจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่าค่าจ้างวันสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 60,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37 วัน เป็นเงิน 12,333 บาท แต่จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,333 บาท ค่าชดเชย 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,333 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2.จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงแรม มีนายสุเมธ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2547 เวลา 11 นาฬิกา โจทก์ได้ชักชวนนายสุธีย์ นายชาญยุทธ นายบุญชู และพนักงานของจำเลยใต้บังคับบัญชาของโจทก์ร่วมกันดื่มสุราในห้องควบคุมคอนโทรลเครื่องไฟฟ้า เครื่องเสียง ซึ่งตั้งเครื่องคอมเพรสเซอร์แอร์ขนาดใหญ่ 2 เครื่อง และถังแก๊ส 40 ถัง พร้อมทั้งสูบบุหรี่ ส่งเสียงรบกวนลูกค้าของจำเลยอย่างมากพนักงานของจำเลยไม่สามารถติดต่อกับโจทก์เพื่อสั่งงานได้ เพราะโจทก์ได้ยกสายโทรศัพท์ที่ใช้ออก ถึงเวลาเลิกงานโจทก์ไม่ยอมตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน กับดื่มสุราในสถานประกอบการของจำเลยจนเกือบรุ่งเช้าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยขัดต่อระเบียบวินัยอย่างร้ายแรง และจงใจขัดคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ขัดขืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การกระทำของโจทก์อาจก่อให้เกิดประกายไฟระเบิดขึ้นได้ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง จำเลยจึงแจ้งข้อหาและยืนยันเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ขอร้องจำเลยอนุญาตให้โจทก์ทำงานกับจำเลยถึงวันสิ้นรอบการจ่ายเงินในเดือนธันวาคม 2548 โดยจำเลยไม่ติดใจเอาผิดโจทก์ แต่วันที่ 23 ธันวาคม 2548 เวลา 23 นาฬิกา ถึงเวลา 8 นาฬิกา ของวันที่ 24 ธันวาคม 2548 เป็นเวลาที่โจทก์เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการของจำเลยคนเดียว ปรากฏว่าสายโทรศัพท์ประมาณ 30 สาย ถูกดึงหลุด เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถรับคำสั่งหรือให้บริการลูกค้าได้อย่างปกติ โจทก์ได้จงใจทำให้จำเลยเสียหาย มิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และมิได้ดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้องตามหน้าที่และความรู้ความสามารถของโจทก์ เป็นเหตุให้ลูกค้าของจำเลยเดือนร้อน ไม่สามารถเรียกใช้บริการจากจำเลยได้และยกเลิกห้องพักเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดอาญาและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องตามฟ้องและการกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยติดตั้งสายโทรศัพท์ต้องเสียค่าใช้จ่ายและจำเลยขาดรายได้ที่ลูกค้ายกเลิกห้องพัก ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ให้จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,333 บาท และค่าชดเชย 60,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,333 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย 60,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

4.ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วให้จำเลยสืบพยานก่อนและให้โจทก์สืบแก้ แต่ในการพิจารณาคดี จำเลยและโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลแรงงานกลางจึงวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ถึง 3 และข้อ 5 จำเลยมีภาระการพิสูจน์ แต่ไม่สืบพยาน จึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์กระทำผิดต่อนายจ้าง โดยทำลายทรัพย์สินของนายจ้าง รับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายโดยการดื่มสุราในห้องควบคุมเครื่องจักรของโรงแรม และรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย และจำเลยเสียหายตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงมีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย

5.พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com