คำพิพากษาที่ 3098/2554

นายอมร พรมทรัพย์ โจทก์

ธรรมพร อพาร์ทเม้นท์ หรือร้อยเอก พรชัย ขาวสบาย จำเลย

เรื่อง 1.จ้างร.ป.ภ.มาเฝ้าหอพักเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ

1.โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย
ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,700 บาท ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2547 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบถ้วน โดยจำเลยไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานซึ่งโจทก์ทำงานเกินเวลาปกติวันละ 4 ชั่วโมง จำเลยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และจำเลยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี จำเลยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๆ ละ 6 วัน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยที่โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 3 ปี จำนวน 6 เดือน รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ ทั้งสิ้น 207,959.48 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 207,959.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2.จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานรักษาปลอดภัย ต่อมาเดือน
มกราคม 2547 จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำงานบกพร่องหลายประการ

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 207,959.48 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4.จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟัง
ข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม

5.คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย
ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทน ในกรณีนายจ้างเป็นนิติบุคลหมายความถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน และนิยามคำว่า ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง อันมีลักษณะทำนองเดียวกับความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งสัญญาข้อ 3 และข้อ 4 ระบุว่า หากเกิดเหตุการณ์มีการเล่นการพนัน มั่วสุมดื่มสุราหรือยาเสพติดให้โทษ มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น ต้องแจ้งให้ตำรวจหรือผู้ว่าจ้างทราบทันที ต้องระวังอัคคีภัยและคนแปลกหน้าเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณพื้นที่ให้ปลอดภัย หากมีเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ดังกล่าวต้องแจ้งผู้ว่าจ้างทันที และโจทก์ต้องทำงานระหว่างเวลา 19 นาฬิกาถึง 7 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แสดงว่าโจทก์ต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้ และได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาปฏิบัติงาน จึงไม่ใช่การปฏิบัติงานอย่างอิสระแต่อย่างใด สัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาจ้างทำของ ที่ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

6.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com