คำพิพากษาฎีกาที่ 3001-3051/2555

นายสุริยา นามหงษา ที่ 1 กับพวกรวม 51 คน โจทก์

บริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน จำเลย

เรื่อง 1.จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้โรงงานของจำเลยหรือไม่
2.กรณีเกิดเพลิงไหม้ มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย จำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามม.75 ได้ไหม
3.จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้ง 51 คน ในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ได้รับก่อนหยุดกิจการ สำหรับการหยุดงาน 3 วันแรกของเดือน ส่วนตั้งแต่วันที่ 4 เป็นต้นไปจ่ายค่าจ้างอัตราร้อยละ 50 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง และ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ถูกต้องหรือไม่
4.ไฟไหม้ในขบวนการผลิตต้นน้ำ แต่สั่งหยุดตามม.75 ที่ขบวนการผลิตปลายน้ำได้ไหม

1.โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 กับวันที่ 2 มีนาคม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 จำเลยทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมงานพร้อมอุปกรณ์รวมทั้งดูแลระบบความปลอดภัยในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ดีสมบูรณ์ได้มาตรฐาน ไม่ละเลยให้เกิดอันตรายในการทำงานต่อโจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทำให้เกิดเพลิงไหม้แผนกผสมวัตถุดิบหรือแบนบูรี่ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 จนเป็นเหตุให้ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 และระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 โจทก์ห้าสิบเอ็ดไม่ได้ทำงานตามปกติและไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนโดยได้รับเพียงร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน สำหรับการหยุดงาน 3 วันแรกของเดือนและได้รับค่าจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานสำหรับการหยุดงานตั้งแต่วันที่ 4 เป็นต้นไป อันเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน จำเลยจะยกเหตุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับ พ.ศ.2547 ข้อ 5.2 เรื่องการหยุดงานเนื่องจากเหตุขัดข้องในการประกอบกิจการ จ่ายค่าจ้างไม่เต็มจำนวนไม่ได้เนื่องจากเป็นความผิดของจำเลย ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ด

2.จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานและใช้ความระมัดระวังในการเตรียมอุปกรณ์ในการทำงานให้พร้อม รวมทั้งดูแลระบบความปลอดภัยในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ตามมาตรฐาน เหตุเพลิงไหม้ในแผนกผสมวัตถุดิบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย แต่เป็นเหตุที่จำเลยไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้เครื่องผสมวัตถุดิบส่วนควบคุมและระบบไฟฟ้าถูกไฟไหม้เสียหายอันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบกับระบบไฟฟ้าและกระบวนการผลิตของโรงงานทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตสินค้าได้ จำเลยจึงใช้สิทธิหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 โดยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานได้รับก่อนหยุดกิจการสำหรับการหยุดงาน 3 วันแรกของเดือน ส่วนวันที่ 4 เป็นต้นไปจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับ พ.ศ. 2547 ข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 จำเลยมีมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้โดยมีอุปกรณ์สำหรับดับเพลิงและหนีไฟอย่างสม่ำเสมอ จำเลยพยายามรีบซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงงานโดยรับลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดกลับเข้าทำงาน จนกระทั่งจำเลยประกาศเปิดงานอีกครั้งวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 โดยลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนนับจากวันดังกล่าว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4.โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5.ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่แผนกผสมวัตถุดิบหรือแบนบูรี่ ซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นกระบวนการผลิต ทำให้เครื่องผสมวัตถุดิบ ส่วนควบคุมและระบบไฟฟ้าถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของโรงงาน ทำให้จำเลยไม่สามารถดำเนินการผลิตสินค้าได้และประกาศหยุดกิจการบางส่วน โดยหยุดส่วนการผลิตชั่วคราว ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ทำให้โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดซึ่งล้วนแต่อยู่ฝ่ายผลิตทั้งหมดต้องหยุดงานชั่วคราว โดยโจทก์ที่ 1 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2550 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 ครบถ้วนแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2550 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ดังกล่าวร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่โจทก์ดังกล่าวได้รับก่อนหยุดกิจการสำหรับการหยุดใน 3 วันแรกของเดือน และร้อยละ 50 สำหรับการหยุดตั้งแต่วันที่ 4 เป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 ทำงาน ส่วนปัญหาว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้โรงงานของจำเลยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 ไม่ได้รับค่าจ้างรายวันเต็มตามจำนวนเหมือนกับวันก่อนเกิดเพลิงไหม้โรงงานนั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีมาตรการด้านความปลอดภัยและแผนป้องกันอัคคีภัยอยู่หลายประการ ตามเอกสารหมาย ล.4 ล. 5 และ ล.25 ถึง ล.28 นอกจากมาตรการป้องกันดังกล่าวแล้ว จำเลยได้จัดให้มีมาตรการความปลอดภัยในระหว่างที่โรงงานหยุดการผลิตโดยมีชุดเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินในวันที่ 2 และวันที่ 3 มีนาคม 2550 ตามเอกสารหมายเลข จ. 5 หรือ ล. 7 ซึ่งได้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และไม่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงยกเลิกชุดเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินนั้นแต่อย่างใด อีกทั้งกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้โรงงานของจำเลยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52 ไม่ได้รับค่าจ้างรายวันเต็มตามจำนวนเหมือนกับวันก่อนเกิดเพลิงไหม้โรงงาน

6.พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 31 และที่ 33 ถึงที่ 52

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com