คำพิพากษาฎีกาที่ 6142 – 6144/2555

นายปารย์  ไวทิน ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน      โจทก์

บริษัท โคเน่ไทยลิฟท์   จำกัด  (มหาชน)     จำเลย

เรื่อง  1.    งานโครงการคืออะไร
2.    ธุรกิจปกติคืออะไร
3.    จ้างทำของต่างกับจ้างแรงงานอย่างไร

1.    โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้อง ทำนองเดียวกันว่า  เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม  2550  จำเลยว่าจ้างโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการ และวันที่ 1  กุมภาพันธ์  2551  จำเลยว่าจ้างโจทก์ที่ 2  และที่  3 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า  โจทก์ทั้งสามได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 160,000  บาท 30,000 และ 12,000  บาท  ตามลำดับ  นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังได้รับค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบอีกครั้งละ 5,000  บาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติแบบไว้ 1 ครั้ง  ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม  จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย  90  วัน  เป็นเงิน 480,000  บาท 90,000  บาท  และ  36,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  กับให้จำเลยจ่ายค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี

2.    จำเลยทั้งสามให้การว่า  จำเลยมีวัตถุประสงค์หลักในการผลิต   ออกแบบ  จำหน่าย   ติดตั้งและบำรุงรักษาลิฟต์ของจำเลยโดยจำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการตามสัญญา 2 ฉบับ  ฉบับแรกวันที่ 9  กรกฎาคม  2550  ถึงวันที่ 8  กรกฎาคม  2552  ฉบับที่ 2  วันที่  9  กรกฎาคม 2552  ถึงวันที่  31  สิงหาคม   2552  โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 160,000  บาท  จำเลยจ้างโจทก์ที่ 2 และที่ 3  ทำงานในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า  ในแผนกธุรกิจโครงการขนาดใหญ่ สำหรับโจทก์ที่ 2 ทำสัญญา 3 ฉบับ ฉบับแรกวันที่  1  กุมภาพันธ์  2551  ถึงวันที่ 31  ธันวาคม   2551  ฉบับที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2552  ถึงวันที่ 30  มิถุนายน  2552  และฉบับที่ 3  วันที่ 1  กรกฎาคม  2552  ถึงวันที่ 31  สิงหาคม  2552  โจทก์ที่ 2  ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000  บาท ส่วนโจทก์ที่ 3  ทำสัญญากับจำเลยรวม 2 ฉบับ  ฉบับแรกวันที่  1  กุมภาพันธ์   2551   ถึงวันที่  31  ธันวาคม  2551  และฉบับที่ 2  วันที่  1  มกราคม  2552  ถึงวันที่  30  มิถุนายน   2552  โจทก์ที่  3  ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,000  บาท  จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน  จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในการติดตั้งลิฟต์ที่โครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ เม็ท”  และมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า ดูแลสินค้าต่างๆ  ของจำเลย  ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม “เดอะ เม็ท” ซึ่งจำเลยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าว  ซึ่งเป็นโครงการเฉพาะไม่ใช่งานปกติของธุรกิจจำเลย มิใช่งานประจำที่โจทก์ทั้งสามต้องทำต่อเนื่องกันตามปกติในทางธุรกิจการค้าของจำเลย  ทั้งสัญญาว่าจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสามมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน นอกจากนี้จำเลยไม่เคยมีข้อตกลงจ่ายค่าตอบแทนค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบครั้งละ 5,000  บาท  ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด  ขอให้ยกฟ้อง

3.    ระหว่างพิจารณา  โจทก์ที่ 1 ขอสละข้อเรียกร้องที่ให้จำเลยชำระเงินค่าลงลายมือชื่ออนุมัติแบบตามฟ้อง

4.    ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 480,000  บาท โจทก์ที่ 2  จำนวน 90,000 บาท  และโจทก์ที่ 3 จำนวน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

5.    ศาลฎีกา  จำเลยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งลิฟต์ในโครงการคอนโดมิเนียม “เดอะ เม็ท” ถนนสาทรใต้ เขตสาทร  กรุงเทพมหานคร  โดยโครงการดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจ้างการติดตั้งลิฟต์กับจำเลย  ในการว่าจ้างโจทก์ที่ 1 จำเลยมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในการติดตั้งลิฟต์ในโครงการดังกล่าว  และมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า ดูแลสินค้าต่างๆ ของจำเลยซึ่งอยู่ในโครงการดังกล่าว  หลังจากที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม  2552  และระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาจ้างกันอีก และจำเลยไม่ได้จัดหางานให้โจทก์ทั้งสามทำต่อไป  รวมทั้งไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามอีกต่อไป   จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วด้วยเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง  ประกอบกับเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำความผิดแต่อย่างใด  จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม   ทั้งนี้  เมื่อได้พิจารณาวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทจำเลยซึ่งทำการผลิต  ออกแบบ  จำหน่าย  ติดตั้งและบำรุงรักษาลิฟต์แล้ว   เป็นงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย  อันถือได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์ที่ 2  และที่  3  ให้ทำงานอันเกี่ยวกับงานอันเป็นปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยด้วย  จึงไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่าการจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์ในประการอื่นของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541  มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ หรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม

พิพากษายืน.

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
C.3