คำพิพากษาฎีกาที่ 6026-6048/2548

นายสมเพียร สุภศร และพวกยี่สิบสองคน โจทก์

บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์เทอร์มินัล (ประเทศไทย)จำกัด จำเลย

เรื่อง

1. ค่าเที่ยว ที่นายจ้างให้พนักงานขับรถทำงานขับรถบรรทุกโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้เฉพาะเที่ยวที่มีการบรรทุกและต้องทำอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันได้ตามที่นายจ้างกำหนดไม่ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานแต่ถือเป็นเงินจูงใจ
2. ค่าจ้างคืออะไร

1.โจทก์ทั้งยี่สิบสามฟ้องว่า เป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถคอนเทนเนอร์ ได้รับค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงในการขับรถ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนและกำหนดจ่ายเบี้ยเลี้ยงทุกสัปดาห์ โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานกะละ 24 ชั่วโมง กะที่หนึ่งเริ่มเวลา 8 นาฬิกา สิ้นสุดในเวลา 8นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น กะที่สองเริ่มเวลา 16นาฬิกา สิ้นสุดในเวลา16นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น และให้หยุดในวันรุ่งขึ้น24ชั่วโมงก่อนเริ่มทำงานในกะต่อไปกำหนดเปลี่ยนกะเดือนละครั้งการทำงานกะละ24ชั่วโมงเป็นการทำงานเกินชั่วโมงทำงานตามกฎหมายจำเลยไม่ได้จัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ตามกฎหมายสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า1วันขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในการทำงานและค่าทำงานในวันหยุดตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์แต่ละคนเสร็จ

2.จำเลยทุกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้าการทำงานกะละ24ชั่วโมง เป็นการทำงานตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามเอง ซึ่งจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้เป็นค่าเที่ยวแล้ว โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ได้ทำงานในวันหยุด หากทำจำเลยก็จ่ายค่าทำงานในวันหยุดครบถ้วนแล้ว คำฟ้องเรียกค่าตอบแทนทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตั้งแต่วันที่1 มกราคม2545 ถึงวันที่8มีนาคม 2545 เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเกินกำหนด2ปี ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่ากิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำเป็น งานขนส่งทางบก ตามกฎกระทรวง ฉบับที่12 การที่จำเลยและโจทก์ทั้งยี่สิบสามกับพนักงานขับรถอื่นกำหนดเวลาทำงานและได้ทำงานวันละ 24 ชั่วโมง เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่12( พ.ศ.2541) ข้อ2และข้อ3ตลอดมา ข้อเท็จจริงฟังได้ไม่แน่ชัดว่าโจทก์แต่ละคนทำงานครบ 24ชั่วโมง ในแต่ละกะและไปทำงานทุกวันทั้งปี2545และปี2546 จึงประเมินโดยคำนึงถึงทางได้ทางเสียของทั้งสองฝ่ายแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้โจทก์แต่ละคนทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541)วันละ 12 ชั่วโมง จึงมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในการทำงานวันละ 12 ชั่วโมง จำเลยจ่ายเงินค่าเที่ยวสำหรับการทำงานกะไม่ว่าจะทำงานในช่วงทำงานปกติ8 ชั่วโมงแรก หรือในช่วงเวลาทำงานเกินเวลาทำงานปกติ พนักงานขับรถจะได้รับเงินค่าเที่ยวเฉพาะที่มีการบรรทุกตู้สินค้าและอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไม่แน่นอนว่าในแต่ละกะที่ทำงานพนักงานขับรถจะได้รับเงินค่าเที่ยวหรือไม่เงินค่าเที่ยวจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541)ข้อ6 จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำหรับระยะเวลาที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานเกินเวลาปกติ การที่จำเลยให้หยุดพัก 24 ชั่วโมงติดต่อกัน ถือได้ว่าจำเลยจัดให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามมีวันหยุดประจำสัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า1 วันตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแก่โจทก์ทั้ง23 โจทก์ที่1 จำนวน 81,483บาท โจทก์ที่2 จำนวน 78,818บาทฯลฯ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15ปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

4.ปัญหาวินิจฉัย เงินค่าเที่ยวที่เป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12(พ.ศ.2541) ข้อ6 หรือไม่ เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายเงินค่าเที่ยวให้พนักงานขับรถเฉพาะเที่ยวที่มีการบรรทุกตู้สินค้าเท่านั้น โดยพิจารณาถึงอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการปฏิบัติงานแต่ละกะด้วย หากอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการปฏิบัติงานแต่ละกะต่ำกว่าอัตราที่จำเลยกำหนดพนักงานขับรถจะไม่ได้เงินค่าเที่ยวสำหรับการปฏิบัติงานในกะนั้นตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เอกสารหมายล.14ล. 15 จำเลยจ่ายเงินค่าเที่ยวให้สำหรับการทำงานทั้งกะไม่ว่าจะทำงานในช่วงเวลาทำงานปกติหรือในช่วงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ หมายความว่าเที่ยวที่พนักงานขับรถขับรถโดยไม่มีการบรรทุกตู้สินค้า แม้จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองอยู่ในอัตราที่จำเลยกำหนดก็จะไม่ได้รับเงินค่าเที่ยวในกะนั้น หรือแม้มีการบรรทุกตู้สินค้าแต่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองกว่าอัตราที่จำเลยกำหนดก็ไม่ได้รับเงินค่าเที่ยวในกะนั้นเช่นกัน ดังปรากฏตามใบรับเงินค่าเที่ยวเอกสารหมายจ.2จ.9จ.10 ว่าจำเลยคิดค่าเฉลี่ยอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกิโลเมตรต่อลิตร และตามเอกสารหมายจ.9ในกะที่พนักงานขับรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ระยะทางต่ำกว่าที่จำเลยกำหนด กล่าวคือตามอัตราที่จำเลยกำหนดเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร ต้องขับรถได้ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร แต่ในการปฏิบัติงานจริงพนักงาน ขับรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร ขับได้ระยะทางต่ำกว่า 2.2 กิโลเมตร พนักงานจึงไม่ได้รับเงินค่าเที่ยวสำหรับกะนั้น เงินค่าเที่ยวจึงไม่ได้เป็นเงินตอบแทนการทำงานไม่ว่าการทำงานในเวลาปกติหรือการทำงานล่วงเวลา แต่มีลักษณะเป็นเงินจูงใจให้พนักงานขับรถโดยมีการบรรทุกตู้สิ้นค้าให้มากขึ้นและต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัดในแต่ละกะอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

5.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/22)
www.paiboonniti.com