คำพิพากษาฎีกาที่ 13895/2555

นายวิชิตพงศ์      วิจารจิตต์                                    โจทก์

บริษัท การบินไทย  จำกัด (มหาชน)                      จำเลย

เรื่อง     1.    ค่าพาหนะเหมาจ่ายรายเดือนเป็นค่าจ้างไหม

2.    หากเป็นค่าจ้างกระทบเงินต่างๆ อะไรบ้าง

 

 

 

 

1.    โจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 19 เมษายน  2547   จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่ง PERSONNEL  OFFICER 2  เงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,206  บาท  และค่าพาหนะเหมาจ่ายรายเดือน  เดือนละ 2,000  บาท  เดือนพฤศจิกายน  2548  จำเลยจ่ายเงินรางวัลประจำปี  ในอัตรา 2.25  เท่าของเงินเดือนค่าจ้างโดยไม่นำค่าพาหนะไปรวมคำนวณ  ทำให้โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเพียง  31,964  บาท  โจทก์เห็นว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยอีก 4,500  บาท  จำเลยยังกระทำผิดกฎหมายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกล่าวคือ  โจทก์ได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายจากจำเลยเดือนละ 2,000  บาท  ตั้งแต่เดือนตุลาคม  2547   ถึงปัจจุบัน  แต่จำเลยมิได้นำค่าพาหนะรวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานการคำนวณเงินตามอัตราที่ตกลงกันทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นการกระทำไม่เป็นธรรมต่อโจทก์  ขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งให้ค่าพาหนะเป็นเงินเดือนค่าจ้างและให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2547/2548  โดยคิดคำนวณค่าพาหนะของโจทก์ที่ได้รับเป็นเงินเดือนค่าจ้าง  เดือนละ 2,000  บาท  และให้นำเงินค่าพาหนะสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อตกลงกับจ่ายค่าจ้างค้าง จำนวน  4,500 บาท  และค่าเสียหายจำนวน 100,000  บาท  พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

2.    จำเลยให้การว่าจำเลยได้จ่ายเงินรางวัลประจำปีถูกต้องครบถ้วนแล้ว   ในอดีตจำเลยให้พนักงานที่ต้องไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นรายครั้งรายเที่ยวโดยพนักงานที่ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ต้องกลับมาทำเรื่องเบิกจำเลยจึงจะเบิกจ่ายให้ ต่อมาจำเลยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือค่าพาหนะโดยจ่ายให้พนักงานที่มีหน้าที่ต้องไปปฏิบัตินอกสถานที่และมีสิทธิเบิกค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายรายเดือน เนื่องจากเป็นรายจ่ายปลีกย่อยไม่สะดวกที่จะจ่ายตามความเป็นจริงเหมือนในอดีต   เงินช่วยเหลือค่าพาหนะดังกล่าวจึงเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานหาใช่เป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานและไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

3.    ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

4.    ศาลฎีกา  วินิจฉัยว่า  เงินช่วยเหลือค่าพาหนะที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ เดือนละ 2,000  บาท เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า  คำสั่งนี้ระบุว่า  การอนุมัติค่าพาหนะให้แก่โจทก์ให้ถือว่าเป็นการให้เฉพาะตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น   หากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและลักษณะงานที่ไม่จำเป็นจะต้องได้รับค่าพาหนะ จำเลยมีสิทธิยกเลิกเงินได้ค่าพาหนะนั้น  แปลความได้ว่าจำเลยตกลงให้ค่าพาหนะแก่โจทก์ ต่อเมื่อโจทก์มีตำแหน่งและลักษณะงานที่ต้องเดินทางมิได้ให้ค่าพาหนะเป็นการถาวรตลอดไปมีการเปลี่ยนแปลงได้  กรณีจึงเป็นการที่นายจ้างให้เงินเพิ่มแก่ลูกจ้างเป็นครั้งคราวตามลักษณะการทำงาน มิได้ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง  ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
C.3