เรื่อง      สัญญาค้ำประกันที่กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียทั้งหมดโดยไม่จำกัดวงเงิน ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ มีผลให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ใช้บังคับมิได้ ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด

1.โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างนาย บ. เป็นลูกจ้างจำเลย ให้ทำงานตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ค่าจ้างเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ระหว่างการทำงานนาย บ. ลูกจ้างโจทก์ ได้นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นเงิน ๑๗๑,๓๗๒.๗๐ ต่อมาวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  นาย บ. ถึงแก่ความตาย  จำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนาย บ. ต้องรับผิด ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงิน ๑๗๑,๓๗๒.๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาจ้างแรงงานเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองจึงหลุดพ้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ คดีจึงขาดอายุความ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์คนละ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

2.ประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง เห็นควรวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาค้ำประกันบุคคลเข้าทำงานก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียนร้อยของประชาชนประกาศข้อ ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน ๖๐ เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างไม่รับ โดยปราศจากข้อ ๑๐ วรรคสอง กำหนดให้นายจ้างทำหนังสือค้ำประกัน ๓ ฉบับ ให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเป็นฝ่ายละฉบับ เห็นได้ว่า ประกาศดังกล่าวกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันต้องกำหนดวงเงินสัญญาค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน ๖๐ เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดหรือไม่จำกัดวงเงินความรับผิดของผู้ค้ำประกันกู้ได้ การที่สัญญาค้ำประกันการทำงาน กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ว่า ยอมรับผิดชดใช้หนี้สินและหรือค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่ผู้ว่าจ้างในกรณีที่ผู้รับจ้างได้ก่อหนี้สินหรือกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าจ้าง เป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันโดยไม่จำกัดวงเงิน จึงเป็นกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล เป็นวงเงินเกินกว่า ๖๐ เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับแล้วก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันการทำงาน สัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับดังกล่าวให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวีธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น ฎีกาแรงงาน