คำพิพากษาฎีกาที่ 8307/2554

บริษัทเซ็นเตอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด โจทก์

นายเกียรติศักดิ์ วราเวณุชย์ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย

เรื่อง 1. ข้อห้ามลูกจ้างที่ลาออกไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งโดยมีกำหนดระยะเวลาไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่เป็นโมฆะ
2. ระยะเวลาห้ามทำงานกับคู่แข่งมีกำหนดกี่ปี
3. จำนวนค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ซึ่งศาลเป็นผู้กำหนด

1. โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์รับจำเลยทำงานตำแหน่งพนักงานขาย มีข้อตกลงว่าจำเลยจะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน หากผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหาย ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 ลาออกอ้างว่าไปทำธุรกิจส่วนตัว ปรากฏว่ายังไม่พ้นกำหนดเวลา 1 ปี จำเลยไปทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ ขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลย ทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ห้ามทำธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากฝ่าฝืนคำสั่งห้ามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอีก 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้าม

2. จำเลยให้การว่า
2.1 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาข้อมูลใดอันเป็นความลับทางการค้าใดของโจทก์ไปเปิดเผยแก่ลูกค้ารายใด ที่ไหน เมื่อใด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
2.2 ข้อกำหนดห้ามจำเลยไปประกอบธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์เป็นการตัดทางประกอบอาชีพทั้งหมดเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ
2.3 ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริง และจำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยก
ฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4. จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
4.1 จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าคำฟ้องเคลือบคลุมเห็นว่า โจทก์ฟ้องใจความว่าโจทก์จ้างจำเลยทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย ทำให้จำเลยทราบความลับทางการค้าของโจทก์ เช่น ราคาสินค้า โจทก์จึงทำสัญญาว่าจำเลยจะไม่เปิดเผยหรือใช้ประโยชน์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพพนักงาน จำเลยจะไม่ประกอบธุรกิจหรือทำงานเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ หากผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยมีเอกสารแนบท้ายฟ้อง ต่อมาจำเลย ลาออกอ้างว่าเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวแต่ความจริง เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทอินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันและทำธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ ภายในกำหนดระยะเวลาต้องห้าม หากจำเลยนำความลับไปช่วยบริษัทดังกล่าวโดยขายตัดราคาของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องพอเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบความลับของโจทก์เรื่องใดได้อย่างไร และหลังจากลาออกจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1จะนำความลับทางการค้าดังกล่าวไปช่วยนายจ้างใหม่ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์อย่างไร ถือได้ว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งขัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ กับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้เข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว หาเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมไม่
4.2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อสองว่า สัญญาจ้างแรงงานขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตกเป็นโมฆะ เห็นว่าข้อความตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้ห้ามอย่างเด็ดขาดและห้ามเฉพาะการไปทำงานในสถานประกอบการอื่นที่ประกอบธุรกิจแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ และห้ามก็เพียง 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงไม่เป็นการตัดโอกาสในการประกอบอาชีพ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่ตกเป็นโมฆะ

5. โจทก์อุทธรณ์ว่า
5.1 ศาลแรงงานกลางไม่ตัดสินให้จำเลยหยุดกระทำผิดสัญญา ศาลต้องห้ามจำเลยที่ 1 ทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือไม่ให้ทำธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ภายใน 1 ปี แต่หาได้พิพากษาไม่เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ลาออกไม่ถึง 1 เดือน ก็ไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่ง ในกำหนดระยะเวลาต้องห้าม ถือว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนที่ทำให้ยอดขายสินค้าของโจทก์ลดลง ทั้งไม่ห้ามจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด หรือห้ามจำเลยทำธุรกิจหรือทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกับโจทก์ภายใน 1 ปี ดังข้างต้นได้ เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าว คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
5.2 โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่าค่าเสียหาย 200,000 บาท ไม่ใช่เบี้ยปรับ ศาลแรงงานกลางไม่อาจลดลงได้ เห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าว เป็นค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com