คำพิพากษาฎีกาที่ 9755/2554

สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช กับพวกรวม 2 คน โจทก์

บริษัทธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด จำเลย

เรื่อง 1.ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการรักษาพยาบาลควรมีเงื่อนไขอย่างไร
2.เงื่อนไขการรักษาพยาบาล ต้องเกิดจากในงานหรือนอกงาน
3.เงื่อนไขอัตราค่ารักษาพยาบาล ควรระบุวงเงินเท่าใด ต่อคนต่อปี
4.หากเจ็บป่วยนอกงานจะรักษาได้ทุกโรคไหม
5.เงื่อนไขการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมควรรักษาก่อนหรือรักษาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของนายจ้างก่อน
6.เงื่อนไขการเข้ารักษาพยาบาลควรเป็นโรงพยาบาลใด(เอกชนหรือรัฐบาล)
7.ข้อดีข้อเสียในการซื้อประกันกลุ่มรักษาพยาบาล
8.สหภาพแรงงานจะฟ้องนายจ้างต้องดำเนินการอย่างไร
9.หากนายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาไปก่อนแล้วจะหักเงินตาม ม.76/41 ได้ไหม
10.นายจ้างจะหักเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ไหมถ้าลูกจ้างลาออก
11.นายจ้างถูกฟ้องต้องแก้ต่างคดีจะคุ้มกับเงินที่นายจ้างหักไว้ไหม
12.ต้องรีบย้ายโรงพยาบาลไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิภายในกี่ชั่วโมง
13.ประชุมชี้แจ้งให้ผู้จัดการกะกลางคืนทราบด้วย
14.เป็นความกันกินขี้หมาดีกว่า
15.หากมีประกันภัยรถยนต์

1.โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการรักษาพยาบาล กล่าวคือ เมื่อเดือนธันวาคม 2548 โจทก์ที่ 2 ได้ถูกผู้อื่นทำร้ายร่างกายด้วยของมีคมจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง เมื่อโจทก์ที่ 2 หายป่วยแล้ว และจำเลยได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 45,000 บาท ทั้งที่มีข้อตกลงให้ลูกจ้างทุกคนเข้ารักษาได้ไม่จำกัดอัตราค่ารักษาพยาบาล และจำเลยจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างทั้งหมด ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากลูกจ้างในภายหลัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2549 โจทก์ที่ 2 ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยได้หักเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์ที่ 2 เพื่อใช้หนี้ค่ารักษาพยาบาล เป็นเงิน 39,592 บาท การกระทำของจำเลยขัดต่อกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินค่าจ้างที่จำเลยหักไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,592 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

2.จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์ทั้งสองทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ได้ถูกบุคคลภายนอกทำร้ายด้วยของมีคมจนได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดนอกที่ตั้งของโรงงานจำเลยประมาณ 2.5 กิโลเมตร และได้มีการประสานนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง ต่อมาหลังจากตรวจสอบแล้วปรากฏว่าโรงพยาบาลตามสิทธิประกันตนของโจทก์ที่ 2 คือ โรงพยาบาลเมืองสมุทรปากน้ำ ซึ่งได้มีการประสานเพื่อนำโจทก์ที่ 2 ส่งโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ปรากฏว่าโรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดงไม่ส่งตัวให้โรงพยาบาลตามสิทธิ เนื่องจากจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนจำนวน 68,603 บาทโดยแบ่งเรียกเก็บจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 20,500 บาท สำหรับส่วนที่เกินโจทก์ที่ 2 และภรรยาไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว จำเลยจึงต้องทดรองจ่ายเงินแทนโจทก์ที่ 2 ไปก่อน จำนวน 48,103 บาท เกี่ยวกับเงินทดรองจ่ายดังกล่าว จำเลยไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุส่วนตัวภายนอกที่ทำงานและไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้หลังจากโจทก์ที่ 2 หายเป็นปกติแล้วได้ตกลงกับจำเลยให้หักเงินที่จำเลยทดรองจ่าย จำนวน 44,792 บาท คืนไปจากค่าจ้าง ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือคัดค้าน จำเลยจึงได้จ่ายเงินที่เรียกเก็บค่าเงินทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนแก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ที่ 2 ได้ตกลงจ่ายเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 39,592 บาท แก่จำเลย เงินดังกล่าวเป็นการใช้หนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ที่ 2 ไป มิใช่การหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

4.ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2549 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน 131,478.99 โดยจ่ายเป็นเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 91,886.99 บาท และ 39,592 บาท ตามลำดับ เงิน 39,592 บาท จำเลยนำไปชำระค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ววินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ที่ 2 ได้จ่ายเช็คจำนวน 39,592 บาท แก่จำเลยเป็นการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ โดยเห็นควรพิจารณาก่อนว่าจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องค่ารักษาพยาบาลว่าให้ลูกจ้างจำเลยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง โดยจำเลยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาลโดยจำเลยจะจ่ายให้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดอัตราค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นการที่จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ที่ 2 จึงเป็นการทดรองจ่ายแทน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่จำเลย ส่วนปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 2 ให้เช็คจำนวนเงิน 39,592 บาทแก่จำเลยเป็นการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บังคับ ขู่เข็ญ หรือกระทำการใดเพื่อขัดขืนใจให้ได้เช็คมา จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้โอนเช็คให้จำเลยเอง เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ที่ 2 จึงมิใช่การหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง

5.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com