คำพิพากษาฎีกาที่ 12820/2553
นายเอ็ดเวอร์ด แอนด์ดริว อีวานส์โจทก์
บริษัท ไรท์ จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 5 คนจำเลย

เรื่องการใช้อุปกรณ์ของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในธุรกิจส่วนตัวของลูกจ้าง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

1.โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสด้านการจ้างงานและ
เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส เพื่อหาลูกค้าตลอดจนบริหารและจัดการทั่วไป ตกลงค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท ซึ่งโจทก์จะได้รับค่าคอมมิชชั่นในอัตราร้อยละดังนี้ อัตราร้อยละ 30 จากการจัดเก็บรายได้ที่เกินกว่า 3,000,000 บาท อัตราร้อยละ 35 จากกการจัดเก็บรายได้ที่เกินกว่า 6,000,000 บาท และอัตราร้อยละ 40 จากการจัดเก็บรายได้ที่เกินกว่า 12,000,000 บาท จำเลยทั้งห้าจะร่วมกันจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2546 จำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าคอมมิชชั่น 12,561,455.41 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 103,247 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 33,876 บาท ค่าชดเชย 309,740 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 304,870 บาท แก่โจทก์

2.จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นเพียงผู้
ถือหุ้นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 5 เป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ที่กระทำการในขอบอำนาจจึงไม่ใช่นายจ้างและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความจริงแล้วจำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวที่ว่าจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์จริง โดยตกลงจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์สำหรับลูกค้าในประเทศไทยเพียงอัตราร้อยละ 25 ของกำไรขั้นต้น ส่วนอัตราค่าคอมมิชชั่นในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีการตกลงในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรขั้นต้น ในการทำงานให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจด้วย โจทก์เบิกค่าคอมมิชชั่นล่วงหน้าตลอดมาถึงวันเลิกจ้าง โจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าคอมมิชชั่น 7,727,058.72 บาท แต่โจทก์กลับเบิกไปแล้วเป็น 10,125,589.90 บาท เกินไปกว่าที่มีสิทธิจะได้รับ การที่จำเลยเลิกจ้างก็เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ และคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้งานในหน้าที่ของโจทก์บกพร่องและกิจการของจำเลยที่ 3 มีผลประกอบการลดลง จำเลยที่ 3 ได้ตักเตือนแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนสิทธิลาพักผ่อนประจำปีโจทก์ใช้สิทธิไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดใดๆต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงินค่าคอมมิชชั่นที่เบิกไปเกินเป็นเงิน 2,398,529.18 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

3.โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง
แย้ง ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต

4.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าชดเชย 309,740 บาท ค่าคอมมิชชั่นค้าง
ชำระ 37,706.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5.ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ปี 2544 ตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส และ
เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 อีกตำแหน่งหนึ่ง มีหน้าที่ในการระดมหารายได้ให้แก่จำเลยที่ 3 ระหว่างทำงานกับจำเลยที่ 3 โจทก์เปิดบริษัทนำเข้าและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา โจทก์ได้ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและพนักงานของจำเลยบางส่วนทำงานในบริษัทของตนเอง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายชองนายจ้าง นอกจากนี้การที่โจทก์ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และพนักงานของจำเลยที่ 3 บางส่วนทำงานส่วนตัวของโจทก์โดยปราศจากสิทธิอันชอบ การกระทำของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการเบียดบังเวลาและทรัพย์สินของนายจ้างโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างย่อมได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

6.พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 309,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com