คำพิพากษาฎีกาที่ 182-184/2555

บริษัทนากาชิมา รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร้อง

นางสาวกัลยา ศรีสวัสดิ์ กับพวกรวม 3 คน ผู้คัดค้าน

เรื่อง 1.การใช้สิทธิลาสวัสดิการของลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างทำอย่างไร
2.การพิจารณาการกระทำผิดของลูกจ้าง กรณีร้ายแรงหรือไม่ดูจากอะไร

1. ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสามกระทำความผิดโดยขาดงานและละทิ้งหน้าที่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามยื่นใบลาอ้างว่า ลาสวัสดิการหรือลากิจสหภาพ ซึ่งการลาดังกล่าวของผู้คัดค้านทั้งสามคนไม่ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง จึงถือว่าเป็นการขาดงาน ผู้คัดค้านที่ 2 และ ที่ 3 กับพวก ยังก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจในการบริหารของผู้ร้อง การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวผู้ร้องถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรง ผู้ร้องไม่ไว้วางใจให้ผู้คัดค้านทั้งสามทำงานต่อไป ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสามได้

2.ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมิได้กระทำผิดดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ขอให้ยกคำร้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 กรณีละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 18 ธันวาคม 2547 ด้วยการเตือนเป็นหนังสือคำขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสามกรณีอื่นให้ยก

4.ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5.ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มาทำงานในวันที่ 18 ธันวาคม 2547 แต่มายื่นใบลากิจกรรมสหภาพในวันที่ 20 ธันวาคม 2547 ผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่อนุมัติ ไม่เป็นการสุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรงจึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า การที่นายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119(1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่นายจ้างมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามถ้าเป็นกรณีร้ายแรงนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีในการฝ่าฝืนครั้งแรก แต่หากไม่ร้ายแรงนายจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน การกระทำผิดของลูกจ้างจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบกันหลายประการเช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งมิได้มีตำแหน่งที่สำคัญในบริษัทผู้ร้อง ไม่มาทำงานในวันที่ 18 ธันวาคม 2547 และยื่นลากิจกรรมสหภาพในวันที่ 20 ธันวาคม 2547 ผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่อนุมัติ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ปฏิบัติไปตามหลักเกณฑ์การยื่นใบลากิจกรรมสหภาพที่ให้ยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน และถือว่าผู้คัดค้านที่ 2 ขาดงานในวันที่ 18 ธันวาคม 2547 เท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง

6.พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com