คำพิพากษาฎีกาที่ 7945/2554

นายธวัชชัย อนันต์สถิต โจทก์

บริษัทสวรรค์เทพ จำกัด ที่ 1
บริษัทสุราบางยี่ขัน จำกัด ที่ 2 จำเลย

เรื่อง 1. การโอนหรือการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 นายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่ จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
2. กรณีลูกจ้างโอนจากนายจ้างเดิม ไปยังนายจ้างใหม่และลูกจ้างไม่ได้โต้แย้งคัดค้านสิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิม ถือว่าลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วยปริยาย
3. เงินเบี้ยเลี้ยงหากจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ กำหนดไว้ และจ่ายเป็นประจำแน่นอน เป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
4. นายจ้างเดิมระบุเกษียณ 65 ปี นายจ้างผู้รับโอนระบุเกษียณ 60 ปี ผลจะเป็นอย่างไร
5. ดอกเบี้ยของค่าชดเชย เริ่มคิดเมื่อไร

1.โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เริ่มทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2503 เป็นลูกจ้างกลุ่มบริษัทสุราสัมพันธ์ จำกัด ต่อมามีการโอนย้ายไปอยู่กับ จำเลยที่ 1 และโอนย้ายโจทก์ไปอยู่กับจำเลยที่ 2 อัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 61,200 บาท และเบี้ยเลี้ยงในอัตราที่แน่นอนอีกเดือนละ 50,000 บาท การโอนย้ายโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ส่วนอายุงานให้นับต่อเนื่อง เมื่อเดือนธันวาคม 2544 จำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์มีอายุครบเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กำหนดให้พนักงานเกษียณอายุเมื่อ 65 ปีบริบูรณ์ การโอนย้ายโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปยังบริษัทจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีข้อตกลงยกเว้นสิทธิเกี่ยวกับเรื่องการเกษียณอายุจาก 65 ปี มาเกษียณอายุ 60 ปี การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เลิกจ้างโจทก์เมื่ออายุ 60 ปี นั้นทำให้โจทก์เสียโอกาสในการประกอบอาชีพและขาดรายได้ที่ไม่สามารถทำงานต่อไปอีก 5 ปี จำเลยที่ 2 มิได้นำเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 50,000 บาท มาคำนวณค่าชดเชยด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชย 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหาย 10,784,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

2.จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์โอนย้ายไปทำงานกับกลุ่มบริษัทอื่นตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสอง การโอนย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในที่ต่างๆ มีการออกคำสั่งให้พนักงานลงชื่อรับทราบตามแบบฟอร์มของบริษัทและถือว่ายินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองทุกครั้ง กลุ่มบริษัทของจำเลยทั้งสองประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ได้กำหนดให้พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปี ต้องเกษียณอายุ ก่อนการถูกเลิกจ้าง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านเรื่องกำหนดการเกษียณอายุ 60 ปี จนเมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์วันที่ 31 ธันวาคม 2544 พร้อมทั้งจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ จึงถือได้ว่าโจทก์ยอมรับข้อบังคับที่มีการกำหนดเกษียณอายุ 60 ปี เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองโดยชัดแจ้ง การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบเกษียณอายุ 60 ปี จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

3.ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยเพิ่มอีก 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

4.ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานในระดับเดียวกับโจทก์ขณะที่อยู่ฝ่ายตลาด เพราะเบี้ยเลี้ยงเป็นเงินที่ จำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์ในจำนวนแน่นอนเดือนละ 50,000 บาท เป็นประจำทุกเดือนโดยจ่ายให้พร้อมกับเงินเดือน และจ่ายให้เมื่อโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดภาค 1 ไม่มีลักษณะการจ่ายให้เป็นสวัสดิการแก่โจทก์ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างที่ตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างจึงต้องนำเบี้ยเลี้ยงซึ่งเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายไปคำนวณค่าชดเชย

5.จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนายจ้างขณะที่เลิกจ้างโจทก์และมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

6.โจทก์มีสิทธิเกษียณอายุเมื่อครบ 65 ปี บริบูรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เมื่อโจทก์โอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นการโอนโดยเป็นปฏิบัติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 แม้จำเลยที่ 2 นับอายุงานต่อเนื่องจากนายจ้างคนก่อน แต่การโอนดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี 9 เดือน ถือว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจโดยปริยาย โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ คือ จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เมื่ออายุครบ 60 ปี
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างในกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุที่ปฏิบัติกันทั่วไป ย่อมมิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตมั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com