การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง/มีขั้นตอนอย่างไร

หากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างในขณะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้างนายจ้างจะต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตแล้วจึงจะบอกเลิกจ้างหรือออกคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างนั้นได้ทั้งนี้ ไม่ว่าการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น จะเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่กรรมการลูกจ้างกระทำความผิดวินัย หรือเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของกรรมการลูกจ้าง
การเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเคยเป็นกรรมการลูกจ้างและพ้นตำแหน่งมาแล้วไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน แม้ว่าเหตุเลิกจ้างนั้นจะเกิดขึ้นขณะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้างก็ตาม
ในทำนองเดียวกัน การเลิกจ้างขณะดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้างนายจ้างต้องขออนุญาตศาลแรงงานก่อนทุกกรณี แม้ว่าเหตุเลิกจ้างนั้นจะ

 

 

เกิดขึ้นก่อนการดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้าง
ที่ประชุมของสหภาพแรงงานได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงาน นายจ้างได้ทราบผลการประชุมของคณะกรรมการสหภาพแรงงานแล้วคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างได้ การจดทะเบียนคณะกรรมการสหภาพแรงงานเป็นวิธีการทางกฎหมายเพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น ดังนั้น นายจ้างลงโทษลูกจ้างซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่ขออนุญาตต่อศาลก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 52(3731/2535)
บทบัญญัติในมาตรา 47 แสดงว่ากรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้ง แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างอีก 4 คน ให้ครบตามจำนวนก็ตาม นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 52 (4398/2536)
เมื่อลูกจ้างเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการของนายจ้างมีมติให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งกรรมการลูกจ้าง ลูกจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างอีกต่อไป และไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 (5209/2537)

การขออนุญาต

เมื่อนายจ้างตัดสินใจจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง นายจ้างจะต้องทำคำร้องขออนุญาตยื่นต่อศาลแรงงาน
คำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างให้ใช้แบบพิมพ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1.แบบพิมพ์(รง.2)  คำร้องคดีแรงงาน : ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่ใช้ใน

คดีแรงงานสำหรับกรณีเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างด้วย
2.แบบพิมพ์ (7) คำร้อง ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่ใช้ในคดีแพ่งทั่วไป
นายจ้างต้องนำแบบพิมพ์คำร้องดังกล่าวมากรอกและพิมพ์ข้อความให้ครบถ้วนว่า นายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างผู้ใด มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด มีตำแหน่งหน้าที่การงานใด ได้รับเงินเดือนเท่าใด ประสงค์จะเลิกจ้างเพราะเหตุผลใด ถ้าเป็นการขอเลิกจ้างเพราะกรรมการลูกจ้างกระทำผิด ก็ต้องกล่าวด้วยว่ากรรมการลูกจ้างนั้นได้กระทำความผิดใดเมื่อใด และนายจ้างได้รับความเสียหายเพียงไร

กระบวนการร้องขออนุญาต

เมื่อกรอกข้อความหรือพิมพ์คำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างแล้ว ให้ทำสำเนาเท่าจำนวนกรรมการลูกจ้างที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้าง และนำคำร้องพร้อมสำเนาไปยื่นต่อศาลแรงงาน
(หากนายจ้างทราบหรือสอบถามลูกจ้างเป็นกรรมการลูกจ้างแล้วกรรมการลูกจ้างตกลงยินยอมให้นายจ้างเลิกจ้างได้(ไม่คัดค้านการขออนุญาต)และนายจ้างประสงค์ให้การขออนุญาตเสร็จไปโดยรวดเร็ว ก็อาจนำกรรมการลูกจ้างไปศาลแรงงานด้วยในวันยื่นคำร้อง  และร่วมกันแถลงขอให้ศาลแรงงานได้ออกนั่งพิจารณาเพื่อให้คดีเสร็จไปในวันเดียวก็ได้)
เมื่อศาลแรงงานรับคำร้องไว้แล้ว    ศาลแรงงานจะนัดไต่สวนคำร้องนั้นโดยส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนให้กรรมการลูกจ้างทราบ กรรมการลูกจ้างอาจมาศาลในวันนัดไต่สวนให้กรรมการลูกจ้างทราบ กรรมการลูกจ้างอาจมาศาลในวันนัดไต่สวนและแถลงคัดค้านการเลิกจ้างได้
ในกรณีที่กรรมการลูกจ้างคัดค้าน ศาลจะไต่สวนพยานหลักฐานที่นายจ้างและกรรมการลูกจ้างนำมาให้ไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ในการวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่

ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น ศาลก็จะสั่งยกคำร้องของนายจ้าง ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างได้ร้องขอให้ศาลสั่งอย่างอื่นด้วย เช่น กรณีขออนุญาตเลิกจ้างเพราะกรรมการลูกจ้างกระทำความผิด ถ้านายจ้างขออนุญาตลงโทษเลิกจ้างและหรือลงโทษสถานอื่นตามข้อบังคับมาด้วย ศาลแรงงานอาจอนุญาตให้ลงโทษอย่างอื่นตามที่ขอนั้น
แต่ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นได้ ศาลแรงงานก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างได้
ไม่ว่าศาลแรงงานจะมีคำสั่งอย่างใด ทั้งนายจ้างและกรรมการลูกจ้างอาจอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

การบอกเลิกจ้าง

เมื่อศาลแรงงานหรือศาลฎีกาอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างแล้ว นายจ้างย่อมจะต้องบอกเลิกจ้างต่อกรรมการลูกจ้างนั้นหรือมีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นอีกชั้นหนึ่ง การที่ศาลแรงงานหรือศาลฏีกามีคำสั่งอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างได้นั้น ยังไม่มีผลเป็นการเลิกกรรมการลูกจ้าง(ศาลไม่มีอำนาจที่จะไปเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้)
ในการบอกเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง นายจ้างจะต้องปฎิบัติเช่นเดียวกับการบอกเลิกจ้างลูกจ้างอื่น เช่น อาจต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อาจต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น แต่เมื่อศาลแรงงานอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างแล้ว กรรมการลูกจ้างก็ไม่อาจฟ้องร้องว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 และไม่อาจฟ้องร้องว่านายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121,มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ดังคดีอุทาหรณ์ต่อไปนี้

1.ศาลอนุญาตแล้วไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมอีก
ไม่ว่ากรณีใดๆ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ แก่กรรมการลูกจ้างตามที่ศาลแรงงานอนุญาตตามมาตรา 52 แล้ว จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมอีก (2675/2524)

2.ศาลแรงงานอนุญาตแล้วต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างทันที โดยนายจ้างจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นอีกชั้นหนึ่ง (2849/2529) คำสั่งศาลหามีผลเป็นการเลิกจ้างไปในตัวไม่ (3073/2531) กรรมการลูกจ้างยังคงนิติสัมพันธ์อยู่กับนายจ้างตลอดไปจนกว่าจะมีการเลิกจ้าง (3201-3205/2533)

3.ศาลแรงงานอนุญาตแล้วบอกเลิกจ้างได้ทันที
เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้นายจ้างย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นได้ทันทีแม้ว่ากรรมการลูกจ้างนั้นจะอุทธรณ์ และคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม คำสั่งเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างก่อนวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฏีกาย่อมเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย( 39/2531)

4.ศาลแรงงานอนุญาตแล้วก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
เมื่อนายจ้างได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้แล้ว นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างให้ถูกต้องตามประมาวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ด้วย (6265/2531)เว้นแต่กรณีร้ายแรง

การทำงานของกรรมการลูกจ้างระหว่างการขออนุญาต

ในระหว่างที่นายจ้างดำเนินการร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานอยู่นั้น กรรมการลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำงานต่อไปจนกว่านายจ้างจะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานและมีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น

หากนายจ้างประสงค์จะให้กรรมการลูกจ้างหยุดทำงานในระหว่างนั้นแต่ยินดีจ่ายค่าจ้างให้กรรมการลูกจ้าง นายจ้างจะต้องร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อนด้วย นายจ้างจะสั่งพักงานกรรมการลูกจ้างในระหว่างนั้นโดยพลการไม่ได้ เพราะอาจถูกกล่าวหาว่านายจ้างกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ในข้อหาขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างได้

นายจ้างได้สั่งพักงานลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างก่อนขออนุญาตศาลแรงงานโดยจ่ายค่าจ้าง การพักงานกรณีเช่นนี้น่าจะเป็นการสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษลูกจ้างต่อศาลแรงงานเสียก่อน เมื่อนายจ้างได้จ่ายค่าจ้างให้ในระหว่างที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานจึงไม่ถือว่าเป็นการลงโทษ (1907/2534)

 

ผลเสียของการเลิกจ้างโดยไม่ได้รับขออนุญาตแรงงานก่อน

การฝ่าฝืนบทบัญญัติในเรื่องการขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกต่อศาลแรงงานนั้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อนายจ้างหลายประการ คือ

1.เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 143 มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ถือว่ากรรมการลูกจ้างนั้นยังไม่ได้ถูกเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย(แม้นายจ้างจะมีคำสั่งเลิกจ้างแล้วก็ตาม) กรรมการลูกจ้างนั้นจึงยังคงมีสภาพเป็นลูกจ้างของนายจ้างตลอดไป นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กรรมการลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่มิได้เลิกจ้าง

3.ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หากลูกจ้างฟ้องศาลแรงงาน ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับกรรมการลูกจ้างนั้นกลับเข้าทำงานต่อไปหรือให้จ่ายค่าเสียหายได้ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างโดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนถือว่าการกระทำของนายจ้างเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันเลิกจ้างแล้ว กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ แม้ศาลแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันเลิกจ้างอันเป็นวันที่นายจ้างกระทำผิดสำเร็จ ก็ไม่มีผลทำให้การกระทำของนายจ้างซึ่งเป็นความผิดอยู่แล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่ผิดไปได้(3016/2533)

กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาต

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างขออนุญาตศาลเฉพาะกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ากรรมการลูกจ้างลาออกจากงานเองโดยสมัครใจ

คดีอุทาหรณ์
กรณีที่ศาลอนุญาตให้เลิกจ้าง

1.ออกหนังสือเวียนแจ้งลูกค้าจนงดใช้บริการของนายจ้าง
คณะกรรมการลูกจ้างที่เป็นคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานออก
หนังสือเวียนไปยังลูกค้าของนายจ้างอ้างว่าอาจมีการนัดหยุดงานจนลูกค้างดใช้หรือเกิดความลังเลที่จะใช้บริการของนายจ้าง เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้(3127/2525)

2.เตือนแล้วยังทำอีก 2 ครั้ง
กรรมการลูกจ้างถูกตักเตือนเป็นหนังสือฐานหยุดงานโดยไม่มีเหตุผลมาแล้ว เมื่อขาดงานอีก 2 ครั้ง ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (1139/2527)

3.สั่งให้ไปทำงานที่อื่นแล้วไม่ไป
นายจ้างสั่งให้กรรมการลูกจ้างไปทำงานที่อื่นชั่วคราว    กรรมการลูกจ้างเข้าใจว่านายจ้างกลั่นแกล้ง  จึงไม่ไปทำงานตามคำสั่งเป็นเวลา 3 วัน ทำงานติดต่อกัน   จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (2911/2528)

4.กอดปล้ำสตรีในที่เปิดเผยและเขามิได้ยินยอม
กรรมการลูกจ้างกอดปล้ำกระทำอนาจารแก่สตรีซึ่งมีสามีแล้วในบริเวณที่ทำงานโดยเปิดเผยโดยเขามิได้ยินยอม ถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (4498/2528)

5.ประมาทเลินเล่อนายจ้างเสียหาย 400,000 บาท

กรรมการลูกจ้างเป็นหัวหน้าแผนกขายส่วนกลาง ขายแบตเตอรี่และจ่ายของไปโดยมิได้ปฎิบัติตามระเบียบ จนมีการทุจริตยักยอกกัน เป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานทำให้นายจ้างเสียหาย 400,000 บาท ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้(3180/2530)

6.ละทิ้งหน้าที่จนนายจ้างเสียหาย 600,000 บาท
กรรมการลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาตั้งแต่ 04.00 นาฬิกา จนถึง 08.00 นาฬิกา แต่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปจนนายจ้างเสียหายเป็นเงิน 600,000 บาท ถือได้ว่ากรรมการลูกจ้างกระทำผิดร้ายแรงและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (3254/2531)

7.แถลงข่าวว่านายจ้างหลอกลวงประชาชน
กรรมการลูกจ้างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายจ้างหลอกลวงประชาชนนำเหล็กธรรมดามาจำหน่ายเป็นเหล็กน้าพี้ แม้กรรมการลูกจ้างดังกล่าวจะอ้างว่าแถลงข่าวในฐานะสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(มิใช่ในฐานะของลูกจ้าง) เมื่อขณะแถลงข่าว กรรมการลูกจ้างยังคงมีฐานะเป็นลูกจ้างอยู่ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างด้วย    เมื่อนายจ้างเสียหาย ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (3304/2533)

8.ออกแถลงการณ์ทำให้นายจ้างเสียหาย
กรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานออก “แถลงการณ์ด่วนพิเศษ” มีข้อความกล่าวหานายจ้างว่าประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ไม่ถูกต้องไม่มีคุณธรรม (เช่น บริษัททำให้พนักงานกับสหภาพแรงงานแตกความสามัคคีโยกย้ายคณะกรรมการสหภาพแรงงานโดยมีเจตนากลั่นแกล้งและแก้แค้น ไม่มีความจริงใจ…เป็นผู้ใหญ่พูดกลับกลอก…..เป็นต้น) การทำและแจกจ่ายแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้งเก้าได้( 822-830/2536)

9.ชักชวนเพื่อคนงานเล่นการพนัน
ลูกจ้างเป็นกรรมการลูกจ้างและรองประธานสหภาพแรงงานควรดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับมาชักชวนเพื่อคนงานเล่นการพนัน แม้จะเป็นการรับแทงสลากกินรวบจำนวนเพียง 100 บาท ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดให้เล่นการพนันภายในสถานที่ทำงานแล้ว ทั้งยังเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งมีโทษทางอาญา การกระทำของกรรมการลูกจ้างนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง ศาลแรงงานอนุญาตให้เลิกจ้างได้ (1389/2544)

10.ขับรถบรรทุกโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
กรรมการลูกจ้างขับรถบรรทุกเทรลเลอร์โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้าง ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายโดยหล่นจากที่นั่งคนขับมาทับเพื่อนร่วมงานจนบาดเจ็บ ศาลแรงงานอนุญาตให้เลิกจ้างได้ ( 978/2550 )

11.ขัดขวางการพัฒนาการบริหารงานของนายจ้าง

กรรมการลูกจ้างไม่ยอมรับปรับเปลี่ยนจากลูกจ้างรายชั่วโมงเป็นลูกจ้างรายเดือน ทั้งที่ลูกจ้างรายเดือนมียอดรายได้สูงกว่าลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างรายชั่วโมงอื่นทุกคนยอมปรับเปลี่ยนแล้ว ทำให้นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างออนไลน์ผ่านระบบมีเดียเคลียริ่งของธนาคารได้ ทำให้นายจ้างเสียหายและเป็นการขัดขวางการพัฒนาการบริหารค่าจ้างของนายจ้าง (2036/2551)

 

 


 

กรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง

1.แจกใบปลิวแต่ไม่ผิดระเบียบ
นายจ้างขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอ้างว่า แจกจ่ายใบปลิวปลุกปั่น ยั่วลูกจ้างอื่นให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ปรากฏว่าใบปลิวดังกล่าวเป็นของสหภาพแรงงานและข้อความก็มิได้ผิดระเบียบข้อบังคับที่นายจ้างอ้างแต่ประการใด ศาลไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง ( 579/2534 )

2.อ้างคุณสมบัติไม่เหมาะสม แต่นำสืบว่าขาดทุน
นายจ้างขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างอ้างว่าไม่พอใจผลการทดลองงาน คุณสมบัติไม่เหมาะสม แต่ทางพิจารณากลับนำสืบข้อเท็จจริงว่าขาดทุนต้องลดการผลิตและจำนวนคนงานลง    ศาลไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง ( 1459/2524 )

3.ลากิจ 3 วัน และอยู่รักษาพยาบาลมารดาอีก 12 วัน
กรรมการลูกจ้างได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ลากิจได้ 3 วันเพื่อไปดูแลมารดาซึ่งป่วยอยู่ในต่างจังหวัด ก่อนครบกำหนดลา     ได้โทรเลขมาแจ้งว่ามารดายังไม่หายป่วย และอยู่รักษาพยาบาลมารดาอีก 12 วันเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่มีเหตุอันสมควร ศาลไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง (3651/2529 )

4.ลงโทษผิดขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับ
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดขั้นตอนการลงโทษไว้ว่า ความผิดครั้งที่หนึ่ง  ออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร  ความผิดครั้งที่สองปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย  กรรมการลูกจ้างได้กระทำผิดเป็นครั้งแรก  แม้นายจ้างขออนุญาตเลิกจ้างโดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลก็ไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง ( 1159/2531 )

5.เอาเหตุความผิดที่เลิกกันแล้วมาลงโทษ
กรรมการลูกจ้างนัดหยุดงานโดยฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์  แต่หลังจากที่ได้หยุดงานแล้ว สหภาพแรงงานกับนายจ้างตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ โดยนายจ้างตกลงไม่กลั่นแกล้งพนักงานทุกคนที่นัดหยุดงาน อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือได้ว่านายจ้างจะไม่เอาเหตุที่กรรมการลูกจ้างได้นัดหยุดงานนั้นเป็นเหตุเลิกจ้างศาลไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง ( 6232/2534 )

6.อ้างเศรษฐกิจถดถอยและมีวันลามาก
เมื่อไม่มาปรากฏว่าลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้กระทำผิดใดๆ ถึงขั้นเลิกจ้าง คงมีเหตุเพียงว่าสภาพการผลิตสินค้าของนายจ้างลดลงเพราะเศรษฐกิจถดถอย นายจ้างต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยไม่ปรากฏว่ากิจการของนายจ้างขาดทุนหรือต้องยุบหน่วยงาน การที่นายจ้างแก้ไขปัญหาด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง    เพราะเหตุที่มีวันลาย้อนหลังไป 3 ปี รวมกันเกิน 45 วัน โดยไม่ปรากฏว่าการลาในรอบปีของลูกจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ เช่นนี้ถือว่านายจ้างยังไม่มีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ( 4511-4512/2541 )

7.อ้างเหตุเมื่อ 3 ปีก่อน
นายจ้างทราบมูลเหตุการกระทำของกรรมการลูกจ้างที่อ้างว่าเป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง     ทั้งนายจ้างก็ได้ดำเนินการย้ายตำแหน่งของกรรมการลูกจ้างมาอยู่ในตำแหน่งงานที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินอีกต่อไปก่อนที่จะยื่นคำร้องถึง 3 ปี ต้องถือว่านายจ้างไม่ติดใจที่จะลงโทษเกี่ยวกับการกระทำของกรรมการลูกจ้างที่อ้างว่ากระทำผิดนั้นอีกต่อไปแล้ว นายจ้างไม่อาจอ้างกระทำนั้นมาเป็นเหตุที่จะขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างดังกล่าวได้ ( 1245/2547 )