คำพิพากษาฎีกาที่ 15902/2553
นายคมสันต์ ปลื้มจิตต์โจทก์
บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)จำเลย

เรื่อง1. การสละสิทธิเรียกร้องทำให้ไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่ระงับไปแล้ว
2. ค่าเปอร์เซ็นต์การขายแก้ไขได้หรือไม่
3. วิธีเปลี่ยนแปลงค่าเปอร์เซ็นต์การขายทำอย่างไร
4. ค่าเปอร์เซ็นต์การขายเป็นสภาพการจ้างหรือไม่

1.โจทก์ฟ้องว่า เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ได้ลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้รับเงินเดือน 33,000 บาท ค่าเปอร์เซ็นต์การขายอัตราร้อยละ 25 จากเปอร์เซ็นต์การขายที่พนักงานซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของโจทก์ได้รับอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายตามระเบียบการจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายตามสภาพการจ้าง ต่อมาจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คือ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2543 จำเลยทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายโดยปรับลดเปอร์เซ็นต์ของอัตราส่วนค่าเปอร์เซ็นต์การขายจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 8 เปอร์เซ็นต์ ของกำไรจากการขายสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าอัตราเปอร์เซ็นต์การขาย โจทก์และพนักงานอื่นๆไม่ได้ให้ความยินยอมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรายได้ลดลง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขาย 342,724.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

2.จำเลยให้การว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขาย
โดยปรับลดเปอร์เซ็นต์ของอัตราส่วนค่าเปอร์เซ็นต์การขายเป็นการเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายของจำเลยนั้น บริษัทของจำเลยมีหลายฝ่าย หลักเกณฑ์การจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายก็จะเป็นไปตามระเบียบของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน เปลี่ยนแปลงระเบียบขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายได้ และค่าเปอร์เซ็นต์การขายขึ้นอยู่กับยอดการขายในแต่ละปีไม่เท่ากัน โจทก์ไม่มีสิทธิเอายอดขายปีใดปีหนึ่งเป็นฐานได้ ประกอบกับโจทก์ยื่นหนังสือลาออก โดยโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยตกลงและยอมรับว่าโจทก์ไม่มีผลประโยชน์หรือหนี้ใดๆที่จะเรียกร้องจากจำเลยอีก จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

3.ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเปอร์เซ็นต์การขายแก่โจทก์จำนวน 228,484 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก

4.ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหาร
การขาย ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกโครงการฝ่ายวิศวกรรมได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 33,000 บาท วันที่ 15 มกราคม 2538 ฝ่ายวิศวกรรมออกประกาศเรื่องขั้นตอนการจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายต่อมาผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวิศวกรรมได้เรียกผู้จัดการฝ่ายต่างๆมาประชุมเพื่อจัดทำโครงสร้างการจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้พนักงานขายในอัตราใหม่ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากมีความเห็นให้ปฏิบัติตามประกาศ โจทก์ได้รับเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายตั้งแต่มีการประกาศมาโดยตลอด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและโจทก์ได้ยื่นหนังสือลาออกได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ 4 เดือน และเงินชดเชย (ที่ถูกคือค่าจ้าง) สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้รวมเป็นเงินจำนวน 141,525 บาท และรับว่าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลย โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลย เห็นว่าโจทก์ทำบันทึกว่าข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลยอีก ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามป.พ.พ. มาตรา 850 ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงระงับข้อพิพาทกันได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com