คำพิพากษาฎีกาที่ 13886/2555

นายธานี       แตงจีน                   โจทก์

บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์                                       เทอร์มินัล(ประเทศไทย) จำกัด               จำเลย

เรื่อง  การย้ายสถานที่ทำงานเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไหม

 

1. โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2541  จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง ฝ่ายช่างทำสีรถหัวลากประจำสำนักงานกิ่งแก้ว ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,510  บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548  จำเลยมีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปทำงานตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง ฝ่ายช่างซ่อมบำรุงรถยกตู้เครื่องมือหนัก ประจำที่สำนักงานลาดกระบังอันเป็นการทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้และขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของโจทก์ ในฐานะประธานสหภาพแรงงานเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล แห่งประเทศไทย
2. จำเลยให้การว่า   โจทก์มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลย กล่าวคือจำเลยมีพนักงาน ณ วันที่ 8 กันยายน  2546  และ  ณ  วันที่  25 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่มีการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างประมาณ 700 คน  ดังนั้นสถานประกอบกิจการของจำเลยจึงมีกรรมการลูกจ้างได้เพียง 11 คน ในสถานประกอบกิจการของจำเลย มีสหภาพแรงงาน 2 สหภาพแรงงานและมีคณะกรรมการลูกจ้าง 2 คณะ สหภาพแรงงานเอฟเวอร์กรีน มีคณะกรรมการลูกจ้าง 11 คน สหภาพแรงงานเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล แห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการลูกจ้าง 6 คน รวม 2  สหภาพแรงงาน มีกรรมการลูกจ้าง 17 คน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้าง  คำสั่งโยกย้ายโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง มิได้ลดตำแหน่ง ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ
3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง
4. โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
5.  ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของจำเลยหรือไม่การที่จำเลยมอบหมายงานที่สำนักงานลาดกระบังเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษต่อโจทก์  และทำให้โจทก์เสียหายในส่วนของรายได้และสวัสดิการที่เคยได้รับนั้น  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง ต่อมาจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากการทำงานตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง  ประจำสำนักงานกิ่งแก้ว ไปอยู่ที่ฝ่ายช่างซ่อมบำรุงรถยกตู้ประจำที่สำนักงานลาดกระบังในระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาคัดค้าน การประชุมเปลี่ยนแปลงอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันและการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเป็นการขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะประธานสหภาพแรงงานเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล  แห่งประเทศไทย สถานประกอบกิจการของจำเลยมีกรรมการลูกจ้างได้เพียง 11 คน แต่มี 2 สหภาพแรงงานและมีกรรมการลูกจ้าง 2 คณะ เมื่อรวมจำนวนแล้วจะมีกรรมการลูกจ้าง 17  คน จึงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลย    การย้ายโจทก์จากสำนักงานกิ่งแก้วไปทำงานที่สำนักงานลาดกระบังซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นการย้ายพร้อมกับพนักงานอื่นอีก 27  คน  โดยโจทก์ยังคงทำงานในตำแหน่งเดิม  ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม  โจทก์ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการเดินทางหรือที่พักอาศัย  มิได้เป็นการขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของโจทก์หรือการกระทำใดๆ  อันอาจเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  มาตรา 52    อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ไม่อาจก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้  อุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่า การทำงานที่สำนักงานลาดกระบังเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหายในส่วนของรายได้และสวัสดิการ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522



รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com
Code : 3