คำพิพากษาที่ 4441 / 2554

บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด ( มหาชน ) โจทก์

นางทิพย์วารี ท้วมใจดี หรือนางดลนภา จิรัคคกุล ที่ 1 กับพวกรวม 5คน จำเลย

เรื่อง 1. การคิดค่าจ้างเงินเดือนรั่วไหลใครรับผิดชอบ

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งธุรการแผนกบุคคล
จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามลำดับ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีหน้าที่คำนวณ ป้อนข้อมูลเวลาการทำงานและการทำงานล่วงเวลาผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบการบันทึกเวลา (ทีเอ) และระบบเงินเดือน (เปย์โรล) เพื่อโอนเงินจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานของโจทก์ เมื่อต้นปี 2547 โจทก์ตรวจพบการทุจริตการจ่ายค่าจ้างของพนักงาน ต่อมาโจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทราบว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยักยอกเงินค่าจ้างส่วนที่เกินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 2,841,478.94 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 2,841,478.94 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2. จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมทุจริตกับพนักงานผู้อื่น ไม่ได้ประมาทเลินเล่อจน
เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลแรงงานกลางเห็นสมควร มีคำพิพากษาพร้อมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระ
หนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2548 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 5

4. โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5. ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
ว่าจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 2 คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ สค. 298/2547 ของศาลแรงงานกลาง คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการจัดทำบัญชีค่าล่วงเวลาด้วยโปรแกรมเปย์โรลเป็นเท็จเพื่อให้โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเกินกว่าความเป็นจริง และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย

6. พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com